ข้ามไปยังเนื้อหา

พยาน​พระ​ยะโฮวา​เผยแพร่​ศาสนา​ใกล้​สะพาน​สันติภาพ​ใน​เมือง​ทบิลิซิ

21 กุมภาพันธ์ 2017
จอร์เจีย

ศาลยุโรปรับรองสิทธิในการนับถือศาสนาของพยานพระยะโฮวาในจอร์เจีย

ศาลยุโรปรับรองสิทธิในการนับถือศาสนาของพยานพระยะโฮวาในจอร์เจีย

เสรีภาพ​ใน​การ​นับถือ​ศาสนา​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​จอร์เจีย​มี​ใน​ทุก​วัน​นี้​แตกต่าง​กัน​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​หลาย​ปี​ก่อน ตอน​นี้​พยาน​ฯ​ได้​รับ​การ​ขึ้น​ทะเบียน​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย และ​รัฐบาล​ยอม​ให้​พวก​เขา​นมัสการ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​เสรี ซึ่ง​แตกต่าง​จาก​สภาพการณ์​ใน​ช่วง​ปี 1999 ถึง​ปี 2003 ที่​รัฐบาล​ปล่อย​ให้​พวก​คลั่ง​ลัทธิ​ทำ​ร้าย​พยาน​ฯ​อย่าง​โหด​ร้าย​และ​ไม่​ยอม​ดำเนิน​คดี​กับ​ผู้​กระทำ​ผิด

การ​ที่​พยาน​ฯ​ถูก​ข่มเหง​ทำ​ให้​พวก​เขา​ต้อง​ยื่น​คำ​ร้อง​หลาย​คำ​ร้อง​ต่อ​ศาล​สิทธิ​มนุษยชน​ยุโรป (ECHR) หนึ่ง​ใน​คำ​ร้อง​เหล่า​นี้​คือ​คดี​ของ​ท​ซาร์​ท​ซีด​เซ​และ​บุคคล​อื่น ๆ ยื่น​ฟ้อง​รัฐบาล​จอร์เจีย คำ​ร้อง​นี้​พูด​ถึง​สาม​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​จอร์เจีย​ใน​ช่วง​ปี 2000 และ​ปี 2001 ที่​มี​การ​ก่อ​ความ​รุนแรง​จาก​ฝูง​ชน การ​ขัด​ขวาง​การ​ประชุม​ทาง​ศาสนา การ​ทำลาย​ทรัพย์​สิน และ​การ​ถูก​ตำรวจ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​และ​ด่า​ทอ

เมื่อ​วัน​ที่ 17 มกราคม 2017 ศาล ECHR ได้​ตัดสิน​คดี​ท​ซาร์​ท​ซีด​เซ​ว่า พยาน​ฯ​ถูก​ละเมิด​สิทธิ​เสรีภาพ ศาล ECHR เห็น​ว่า​ตำรวจ​จอร์เจีย​ไม่​ได้​เข้า​แทรกแซง​เพื่อ​ปก​ป้อง​ผู้​เสียหาย หรือ​ไม่​ก็​เข้า​ไป​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​โดย​ตรง นอก​จาก​นี้ ศาล​ต่าง ๆ ใน​จอร์เจีย​และ​ผู้​พิพากษา​ก็​ยัง​ไม่​ยอม​ยับยั้ง​ความ​รุนแรง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​พยาน​ฯ​โดย​พิจารณา​ข้อ​เท็จ​จริง​แค่​ผิว​เผิน​และ​ตัดสิน​อย่าง​มี​อคติ

คำ​ตัดสิน​ครั้ง​ที่ 3 ที่​ประณาม​การ​ข่มเหง​ซึ่ง​รัฐบาล​มี​ส่วน​สนับสนุน

นี่​เป็น​คำ​ตัดสิน​ครั้ง​ที่ 3 ที่​ศาล ECHR มี​ต่อ​จอร์เจีย ซึ่ง​ศาล​ได้​เรียก​สภาพการณ์​นี้​ว่า​เป็น “ความ​รุนแรง​ทาง​ศาสนา​ทั่ว​ประเทศ​ที่​มี​ต่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา” ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ปี 1999 ถึง​ปี 2003 ใน​การ​ตัดสิน​ทั้ง 3 ครั้ง ศาล ECHR เห็น​ว่า​จอร์เจีย​ได้​ละเมิด​อนุ​สัญญา​ยุโรป​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​เนื่อง​จาก​ไม่​ได้​ให้​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​และ​ปฏิบัติ​กับ​พวก​เขา​อย่าง​มี​อคติ

ศาล ECHR พูด​ถึง​สถานการณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​จอร์เจีย​ตอน​นั้น​ดัง​นี้ “การ​ที่​เจ้าหน้าที่​ของ​จอร์เจีย​มี​ส่วน​ร่วม​โดย​ตรง​ใน​การ​ทำ​ร้าย​พยาน​พระ​ยะโฮวา หรือ​โดย​การ​ยินยอม​และ​ทำ​เป็น​ไม่​รู้​ไม่​เห็น​กับ​การ​กระทำ​ที่​ผิด​กฎหมาย​ของ​คน​ใด​คน​หนึ่ง​เท่า​กับ​เป็น​การ​สร้าง​บรรยากาศ​ให้​ทำ​ผิด​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​รับ​โทษ ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​จึง​เป็น​เหมือน​การ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​ทำ​ร้าย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​ประเทศ”

ศาล ECHR เห็น​ชอบ​ด้วย​กับ​หลัก​นิติ​ธรรม​และ​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา

ใน​เหตุ​การณ์​การ​ทำ​ร้าย 3 ครั้ง​ที่​ศาล ECHR พิจารณา​ใน​คดี​ท​ซาร์​ท​ซีด​เซ ผู้​เสียหาย​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​เนื่อง​จาก​การ​กระทำ​ของ​ตำรวจ​หรือ​การ​สม​รู้​ร่วม​คิด​ของ​ตำรวจ

  • เมื่อ​วัน​ที่ 2 กันยายน 2000 ใน​เมือง​กู​ตา​อิ​ซิ ตำรวจ​จับ​ตัว​นาย ดซามูคอฟ​ไป​ที่​สถานี​ตำรวจ ตำรวจ​ยึด​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ที่​อยู่​ใน​กระเป๋า แล้ว​พูด​ดูถูก​และ​ทุบ​ตี​เขา และ​วัน​ถัด​มา เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​คน​หนึ่ง​ทำ​ร้าย​นาย​กาบูเนีย โดย​ชก​เขา​ที่​ท้อง​และ​ฉีก​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ที่​อยู่​ใน​กระเป๋า

  • เมื่อ​วัน​ที่ 26 ตุลาคม 2000 ใน​เมือง​มาร์เนอูลิ ตำรวจ​เข้า​ขัด​ขวาง​การ​ประชุม​และ​ยึด​หนังสือ​ทาง​ศาสนา ตำรวจ​เอา​ตัว​นาย​มี​คีร์​ตูม​อฟ​และ​นาย​อาลี​เอฟ​ไป​ที่​สถานี​ตำรวจ นาย​มี​คีร์​ตูม​อฟ​กำลัง​บรรยาย​เรื่อง​ทาง​ศาสนา ส่วน​นาย​อาลี​เอฟ​เป็น​เจ้าของ​บ้าน​ที่​ให้​จัด​การ​ประชุม จาก​นั้น ตำรวจ​ก็​ลาก​ตัว​นาย​มี​คีร์​ตูม​อฟ​เข้า​ไป​ใน​รถ​แล้ว​ขับ​พา​เขา​ออก​ไป​นอก​เมือง​และ​สั่ง​ไม่​ให้​กลับ​เข้า​มา​อีก ตำรวจ​ยัง​สั่ง​ห้าม​นาย​อาลี​เอฟ​ไม่​ให้​จัด​การ​ประชุม​ทาง​ศาสนา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​บ้าน​อีก​ด้วย

  • เมื่อ​วัน​ที่ 27 มีนาคม 2001 ใน​เมือง​รุสตาวี พวก​คลั่ง​ลัทธิ​ของ​ออร์โทด็อกซ์​ยก​พวก​มา​ที่​บ้าน​ของ​นาย​โกเกลาชวีลี​ขณะ​ที่​มี​การ​ประชุม​ทาง​ศาสนา​กัน​อยู่ แล้ว​พูด​จา​เหยียด​หยาม​และ​ไล่​คน​ที่​เข้า​ร่วม​ประชุม​ออก​ไป ฝูง​ชน​ยึด​หนังสือ​ทาง​ศาสนา​แล้ว​ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น​ก็​เผา​ต่อ​หน้า​ผู้​คน​ที่​ตลาด​แห่ง​หนึ่ง​ที่​อยู่​ไม่​ไกล ตำรวจ​ไม่​ยอม​เข้า​ไป​แทรกแซง​เพื่อ​ช่วย​ผู้​เสียหาย

ใน​แต่​ละ​กรณี ผู้​เสียหาย​ขอ​ให้​ศาล​จอร์เจีย​ช่วย แต่​ก็​ไม่​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​แต่​อย่าง​ใด ศาล ECHR ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า ผู้​พิพากษา​จอร์เจีย​เข้า​ข้าง​ตำรวจ และ​ไม่​ได้​ตั้งใจ​ตรวจ​สอบ​พยาน​หลักฐาน​ของ​ผู้​เสียหาย ศาล ECHR ได้​พูด​ถึง​ผู้​พิพากษา​ใน​จอร์เจีย​ตอน​ที่​พวก​เขา​พิจารณา​คดี​เหล่า​นี้​ว่า​พวก​เขา​มี​ทัศนะ​ดัง​นี้

ใน​การ​ฟัง​ความ​ข้าง​เดียว​และ​การ​พิจารณา​คดี​อย่าง​ผิว​เผิน ประกอบ​กับ​หลับ​หู​หลับ​ตา​เชื่อ​เจ้าหน้าที่​บังคับ​คดี อีก​ทั้ง​ปฏิเสธ​ไม่​ดู​หลักฐาน​ของ​คำ​ร้อง​สำหรับ​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ที่​เกิด​ขึ้น ศาล ECHR เห็น​ว่า​ไม่​สามารถ​มอง​เป็น​อย่าง​อื่น​ได้​นอก​จาก​เป็น​การ​รู้​เห็น​เป็น​ใจ​ของ​คณะ​ผู้​พิพากษา​ที่​ปล่อย​ให้​มี​การ​กระทำ​ที่​รุนแรง​ต่อ​ผู้​ยื่น​คำ​ร้อง

ศาล ECHR เห็น​ว่า​สิทธิ​เสรีภาพ​ของ​ผู้​ฟ้องร้อง​ตาม​มาตรา 9 (เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา) และ​มาตรา 14 (การ​เลือก​ปฏิบัติ) ของ​อนุ​สัญญา​ยุโรป​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​ถูก​ละเมิด จึง​ตัดสิน​ให้​รัฐบาล​จอร์เจีย​ชด​ใช้​ค่า​เสียหาย​เป็น​เงิน​ทั้ง​หมด 11,000 ยูโร (414,400 บาท) และ​อีก 10,000 ยูโร (376,670 บาท) สำหรับ​ค่า​ดำเนิน​การ​ทาง​กฎหมาย

คำ​ตัดสิน​นี้​จะ​ส่ง​ผล​ไป​ถึง​รัสเซีย​และ​อาเซอร์ไบจาน​ไหม?

ใน​ตอน​ที่​สรุป​ความ​เห็น ศาล ECHR กล่าวย้ำ​จุด​ยืน​ที่​เคย​ตัดสิน​ใน​คดี​ขอ​ง​กลาดินี​และ​เบก​เฮ​ลู​รี​จาก​จอร์เจีย และ​คดี​ของ​คุซเนตซอฟ​และ​ครุปโค​จาก​รัสเซีย รัฐบาล​จอร์เจีย​ได้​นำ​คำ​ตัดสิน​ที่​มี​ก่อน​หน้า​นี้​ไป​ใช้​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​จอร์เจีย​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​ตอน​นี้​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​คุ้มครอง​มาก​ขึ้น ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​เสรีภาพ​และ​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​การ​ประชุม​ทาง​ศาสนา​และ​ใน​การ​พูด​ถึง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน

นาย​อังเดร การ์บอนโน ทนาย​ความ​ด้าน​สิทธิ​มนุษยชน​ระหว่าง​ประเทศ ซึ่ง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ไต่สวน​คดี​ใน​จอร์เจีย​และ​มี​ส่วน​ใน​การ​เตรียม​การ​ยื่น​คำ​ร้อง​ต่อ​ศาล ECHR ให้​ความ​เห็น​ว่า “จาก​คำ​ตัดสิน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ใน​ครั้ง​นี้ ศาล ECHR แสดง​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​จะ​ไม่​ยอม​ให้​กับ​การ​กระทำ​ของ​รัฐบาล​ที่​ใช้​อำนาจ​ทาง​กฎหมาย​เพื่อ​ส่ง​เสริม​การ​จำกัด​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​ของ​พลเมือง พยาน​พระ​ยะโฮวา​ดีใจ​ที่​รัฐบาล​จอร์เจีย​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ตัดสิน​เหล่า​นี้ ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​เสรีภาพ​ใน​การ​นับถือ​ศาสนา หวัง​เป็น​อย่าง​ยิ่ง​ว่า​ประเทศ​สมาชิก​อื่น ๆ ของ​สภา​ยุโรป อย่าง​เช่น​รัสเซีย​จะ​ให้​ความ​สำคัญ”

คำ​ตัดสิน​ล่า​สุด​จาก​ศาล ECHR นี้​ปก​ป้อง​เสรีภาพ​อัน​มี​ค่า​ที่​จะ​ประชุม​และ​พูด​ถึง​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​กับ​คน​อื่น​ได้​อย่าง​อิสระ พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​หวัง​ว่า คำ​ตัดสิน​ที่​หนักแน่น​จาก​ศาล ECHR นี้​จะ​ส่ง​ผล​กับ​การ​ตัดสิน​คำ​ร้อง​ที่​มี​ต่อ​รัสเซีย​และ​อาเซอร์ไบจาน​ใน​ประเด็น​เดียว​กัน​ซึ่ง​กำลัง​รอ​การ​พิจารณา​อยู่