ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ล่องเรือไปตามลำน้ำในเกรละ

ล่องเรือไปตามลำน้ำในเกรละ

ล่อง​เรือ​ไป​ตาม​ลำ​น้ำ​ใน​เกรละ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อินเดีย

ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​กำลัง​อยู่​ใน​เรือ​ที่​ตกแต่ง​เป็น​บ้าน​พัก​อย่าง​สวย​งาม ซึ่ง​สามารถ​พา​คุณ​ล่อง​ไป​ตาม​สาม​เหลี่ยม​ปาก​แม่น้ำ​ของ​แม่น้ำ 44 สาย. การ​ล่อง​เรือ​ที่​ว่า​นี้​สามารถ​ทำ​ได้​ใน​ลำ​น้ำ​และ​ทะเลสาบ​ต่าง ๆ ที่​ทอด​ยาว 900 กิโลเมตร ใน​รัฐ​เกรละ​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​อินเดีย. นับ​ว่า​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​ยินดี​และ​โดด​เด่น​หา​ใด​เหมือน ที่​จริง มัน​เหมือน​กับ​การ​ล่อง​เรือ​อยู่​ใน​อ้อม​กอด​ของ​ธรรมชาติ. ขณะ​ที่​เรือ​ของ​คุณ​ล่อง​ไป​ตาม​ลำ​น้ำ​อย่าง​อ้อยอิ่ง คุณ​ก็​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​ชื่นชม​กับ​ทะเลสาบ​น้ำ​เค็ม​หลาย​แห่ง​ที่​มี​ต้น​มะพร้าว​ขึ้น​เรียง​ราย​ตาม​ริม​ฝั่ง, นา​ข้าว​อัน​เขียว​ขจี, ทะเลสาบ​ที่​เกิด​ขึ้น​เอง​ตาม​ธรรมชาติ, และ​คู​คลอง​ที่​มนุษย์​ขุด​ขึ้น. ใช่​แล้ว คง​เป็น​เพราะ​ลำ​น้ำ​เหล่า​นี้​ที่​ทำ​ให้​นิตยสาร​เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แทรเวิลเลอร์ ได้​ขึ้น​บัญชี​ราย​ชื่อ​รัฐ​เกรละ​ว่า​เป็น “หนึ่ง​ใน​ห้า​สิบ​อันดับ​แรก​ของ​สถาน​ที่​ที่ ‘ต้อง​ไป​ให้​ได้​ใน​ช่วง​ชีวิต​นี้.’ ”

สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​พลาด​ก็​คือ ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​ริม​ฝั่ง​คลอง​หลาย​ต่อ​หลาย​คลอง. พวก​เขา​จำ​ได้​ถึง​สมัย​ที่​ยัง​ไม่​มี​ทั้ง​นัก​ท่อง​เที่ยว​และ​โรงแรม​ระดับ​ห้า​ดาว​ใน​ละแวก​บ้าน​ของ​ตน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม วิถี​ชีวิต​ของ​พวก​เขา​ก็​ไม่​ได้​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​มาก​นัก. แม้​ว่า​ตอน​นี้​บาง​คน​ใน​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ว่า​จ้าง​ให้​ทำ​งาน​ใน​โรงแรม​ต่าง ๆ ที่​สร้าง​ขึ้น​ใหม่ หรือ​สถาน​ประกอบ​การ​อื่น ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ท่อง​เที่ยว แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​วัฒนธรรม​และ​กิจวัตร​ประจำ​วัน​ของ​พวก​เขา​ก็​ยัง​คง​เหมือน​เดิม. พวก​เขา​ดู​แล​ไร่​นา​และ​สวน​มะพร้าว ทั้ง​ยัง​หา​อาหาร​และ​หา​ราย​ได้​เสริม​ใน​แต่​ละ​วัน​ด้วย​การ​จับ​และ​ขาย​ปลา.

การ​จับ​ปลา​ตาม​ลำ​น้ำ

การ​จับ​ปลา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ที่​นี่. ภาพ​ที่​คุณ​ไม่​อาจ​พบ​เห็น​ใน​ที่​อื่น​ใด ก็​คือ​ภาพ​ที่​พวก​ผู้​หญิง​กำลัง​จับ​ปลา​การีมีน ด้วย​มือ​เปล่า. เนื่อง​จาก​มี​เฉพาะ​แต่​ใน​ลำ​น้ำ​ที่​รัฐ​เกรละ​เท่า​นั้น ปลา​การีมีน จึง​เป็น​อาหาร​รส​เลิศ​ทั้ง​สำหรับ​ชาว​อินเดีย​และ​ชาว​ต่าง​ชาติ​ด้วย. เพื่อ​จะ​หา​ปลา พวก​ผู้​หญิง​ต้อง​เดิน​ลุย​อยู่​ใน​ธาร​น้ำ​พร้อม​กับ​ให้​หม้อ​ปาก​แคบ​ลอย​ตาม​ไป​ด้าน​หลัง. เมื่อ​เห็น​ผู้​หญิง​เหล่า​นั้น​เดิน​เข้า​มา​ใกล้ ๆ ปลา​ก็​จะ​ดำ​ลง​ไป​ใน​น้ำ​แล้ว​เอา​หัว​มุด​ลง​ไป​ใน​โคลน. แต่​พวก​มัน​ตบตา​ไม่​สำเร็จ​หรอก พวก​ผู้​หญิง​จะ​เอา​เท้า​ที่​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก​แตะ​ไป​รอบ ๆ บริเวณ​นั้น แล้ว​พวก​เธอ​ก็​จะ​รู้​ว่า​ปลา​อยู่​ตรง​ไหน. จาก​นั้น​พวก​เธอ​ก็​รีบ​ดำ​ลง​ไป​ใน​น้ำ จับ​ปลา​ที่​ไม่​ทัน​ระวัง​ตัว​ด้วย​มือ​เปล่า และ​ก็​เอา​ปลา​ที่​กำลัง​ดิ้น​อยู่​นั้น​ใส่​ไป​ใน​หม้อ​ที่​ลอย​น้ำ​อยู่. เมื่อ​จับ​ได้​มาก​พอ​แล้ว พวก​เธอ​ก็​เดิน​ลุย​น้ำ​ไป​ยัง​ริม​ตลิ่ง ซึ่ง​ผู้​ซื้อ​ที่​อยาก​จะ​ได้​ปลา​กำลัง​คอย​อยู่. ปลา​ที่​ตัว​ใหญ่​กว่า​และ​แพง​กว่า​จะ​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​โรงแรม​ระดับ​ห้า​ดาว ซึ่ง​ทำ​ให้​คน​รวย ๆ ได้​อิ่ม​หนำ​สำราญ ขณะ​ที่​ปลา​ตัว​เล็ก​กว่า​ก็​กลาย​เป็น​อาหาร​ที่​เอร็ดอร่อย​สำหรับ​คน​ที่​มี​ฐานะ​ด้อย​กว่า.

ยอ​จับ​ปลา​แบบ​ชาว​จีน

ภาพ​ที่​เห็น​อยู่​ทั่ว​ไป​ตาม​ชายฝั่ง​ลำ​น้ำ​แถบ​นี้​ก็​คือ​ยอ​จับ​ปลา​แบบ​ชาว​จีน​ที่​ดู​อ่อนช้อย. ยอ​แบบ​นี้​เป็น​สิ่ง​ที่​ดึงดูด​ใจ​นัก​ท่อง​เที่ยว​อย่าง​มาก​ด้วย.

เชื่อ​กัน​ว่า ที​แรก​พวก​พ่อค้า​ชาว​จีน​จาก​ราชสำนัก​ของ​กุบไลข่าน​เป็น​ผู้​นำ​ยอ​มา​ยัง​โคจิน (ปัจจุบัน​คือ​โกจี) ก่อน​ปี​สากล​ศักราช 1400. อุปกรณ์​จับ​ปลา​แบบ​ที่​ยก​ด้วย​มือ​นี้ ชาว​จีน​เป็น​พวก​แรก​ที่​ใช้ จาก​นั้น​ผู้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ชาว​โปรตุเกส​ก็​นำ​มา​ใช้. ปัจจุบัน อุปกรณ์​เหล่า​นี้​เป็น​เครื่อง​ช่วย​ใน​การ​ทำ​มา​หา​กิน​ของ​ชาว​ประมง​หลาย​คน​ใน​อินเดีย ทั้ง​ยัง​ทำ​ให้​มี​อาหาร​สำหรับ​คน​มาก​มาย​จน​นับ​ไม่​ถ้วน เช่น​เดียว​กับ​ที่​เคย​เป็น​มา​เมื่อ 600 กว่า​ปี​แล้ว. น่า​แปลก​ที่​ปลา​จาก​ยอ​ปาก​เดียว​สามารถ​เลี้ยง​คน​ได้​ทั้ง​หมู่​บ้าน. สำหรับ​นัก​ท่อง​เที่ยว​หลาย​คน​แล้ว ภาพ​อัน​น่า​หลงใหล​ของ​ยอ​ที่​ตาก​ไว้​ซึ่ง​มอง​เห็น​เป็น​เงา​ตัด​กับ​แสง​อาทิตย์​ยาม​อัสดง​มัก​จะ​มี​อยู่​ใน​สมุด​อัลบัม​รูป​ภาพ​วัน​พัก​ร้อน​ของ​ตน​เสมอ.

ไม่​เฉพาะ​แต่​ภาพ​ยอ​แบบ​ชาว​จีน​เท่า​นั้น​ที่​เชื้อเชิญ​นัก​ท่อง​เที่ยว​ให้​ไป​ที่​ลำ​น้ำ​แห่ง​เกรละ. กิจกรรม​ทาง​น้ำ​อย่าง​เช่น การ​แข่ง​เรือ​งู​แบบ​โบราณ ก็​ดึงดูด​ผู้​คน​ได้​หลาย​พัน​หลาย​หมื่น​คน​ใน​แต่​ละ​ปี.

การ​แข่ง​เรือ​ใน​ลำ​น้ำ

เรือ​งู​ก็​คือ​เรือ​ที่​มี​รูป​ร่าง​ยาว​และ​เพรียว. ส่วน​ท้าย​เรือ​มี​รูป​ร่าง​คล้าย​งู​เห่า​ตอน​แผ่​แม่​เบี้ย ด้วย​เหตุ​นี้​มัน​จึง​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ว่า เรือ​งู. ใน​อดีต กษัตริย์​นัก​รบ​แห่ง​ลำ​น้ำ​แถบ​นี้​ได้​ใช้​เรือ​เหล่า​นี้​ใน​การ​ออก​รบ​หลัง​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว. ใน​ที่​สุด​เมื่อ​สงคราม​จบ​สิ้น​ลง​แล้ว ความ​จำเป็น​ของ​เรือ​เหล่า​นี้​ก็​ลด​น้อย​ลง. เฉพาะ​แต่​ใน​ช่วง​ที่​มี​การ​ฉลอง​เทศกาล​ต่าง ๆ ใน​วิหาร​เท่า​นั้น​ที่​จะ​มี​การ​นำ​เรือ​อัน​สง่า​งาม​เหล่า​นี้​ออก​มา​ล่อง​ตาม​ลำ​น้ำ. พร้อม​กับ​การ​ประโคม​ข่าว​กัน​ใหญ่​โต เรือ​เหล่า​นี้​มี​ลูกเรือ​และ​มี​การ​ตกแต่ง ทั้ง​ยัง​ถูก​ใช้​เพื่อ​แสดง​วัฒนธรรม​ใน​ท้องถิ่น​ด้วย. ใน​ช่วง​เทศกาล​จะ​มี​การ​จัด​การ​แข่ง​เรือ​เพื่อ​เป็น​เกียรติ​แก่​ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง​ทั้ง​หลาย​ที่​มา​ชม. ธรรมเนียม​นี้​ซึ่ง​เริ่ม​มา​ราว ๆ หนึ่ง​พัน​ปี​แล้ว​ก็​ยัง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​อยู่.

เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก​ที่​มี​เรือ​เช่น​นั้น​มาก​ถึง 20 ลำ​ลง​แข่งขัน​ชิง​ชัย ซึ่ง​แต่​ละ​ลำ​มี​ลูกเรือ​ตั้ง​แต่ 100 ถึง 150 คน. พวก​ผู้​ชาย​กว่า​หนึ่ง​ร้อย​คน​พร้อม​ด้วย​ไม้​พาย​ด้าม​สั้น​นั่ง​เรียง​กัน​เป็น​แถว​สอง​แถว​ตาม​ความ​ยาว​ของ​เรือ​แต่​ละ​ลำ. ผู้​ถือ​ท้าย​เรือ​สี่​นาย​พร้อม​กับ​ไม้​พาย​ด้าม​ยาว​ยืน​อยู่​ท้าย​เรือ​เพื่อ​คอย​คัด​ท้าย. ส่วน​อีก​สอง​คน​ที่​ยืน​อยู่​กลาง​ลำ​เรือ​ก็​จะ​เคาะ​ไม้​บน​กระดาน​เพื่อ​ให้​จังหวะ​แก่​ฝีพาย. นอก​จาก​เสียง​เคาะ​ไม้​แล้ว​ยัง​มี​เสียง​ที่​เกิด​จาก​ผู้​ชาย​อย่าง​น้อย​หก​คน​ที่​อยู่​ใน​เรือ​ด้วย. ผู้​ชาย​กลุ่ม​นี้​จะ​ตบ​มือ, เป่า​นกหวีด, ร้อง​ตะโกน, และ​ร้อง​เพลง​ของ​ชาว​เรือ​โดย​เฉพาะ เพื่อ​ปลุกใจ​ฝีพาย​ทั้ง​หลาย​ให้​พาย​ต่อ​ไป​โดย​ไม่​หยุด. หลัง​จาก​ที่​จ้วง​พาย​ด้วย​ความ​แม่นยำ​ตาม​จังหวะ​ของ​การ​เคาะ​ไม้ พวก​หนุ่ม ๆ เหล่า​นี้​ก็​ทุ่มเท​กำลัง​ที่​เหลือ​อยู่​ให้​กับ​การ​แข่งขัน​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​นี้​จน​เข้า​เส้น​ชัย.

ใน​ปี 1952 ยวหร์ลาล เนห์รู นายก​รัฐมนตรี​คน​แรก​ของ​อินเดีย ได้​มา​เยือน​อัลเลปปี ซึ่ง​เป็น​เมือง​สำคัญ​ของ​ลำ​น้ำ​แถบ​นี้ และ​เขา​รู้สึก​ประทับใจ​มาก​ที่​ได้​ไป​ชม​การ​แข่ง​เรือ​ที่​นั่น. ที่​จริง เขา​ชอบ​มาก​จน​ไม่​สนใจ​เรื่อง​การ​รักษา​ความ​ปลอด​ภัย​ที่​มี​การ​จัด​เตรียม​ไว้ และ​กระโดด​ลง​ไป​ใน​เรือ​ลำ​ที่​ชนะ ตบ​มือ​และ​ร้อง​เพลง​ร่วม​กับ​ฝีพาย. เมื่อ​เขา​กลับ​ไป​เดลี เขา​ได้​ส่ง​ของ​ขวัญ​ซึ่ง​เป็น​เรือ​งู​จำลอง​ที่​ทำ​ด้วย​เงิน​พร้อม​กับ​ลาย​เซ็น​และ​ข้อ​ความ​ที่​จารึก​ว่า “สำหรับ​ผู้​ชนะ​การ​แข่ง​เรือ​ที่​มี​ลักษณะ​อัน​โดด​เด่น​ของ​ชีวิต​แบบ​ชุมชน.” มี​การ​ใช้​เรือ​เงิน​นี้​เป็น​ถ้วย​รางวัล​สำหรับ​การ​แข่งขัน​ประจำ​ปี​เพื่อ​ชิง​ถ้วย​รางวัล​เนห์รู. ผู้​คน​ราว ๆ แสน​คน​แห่​กัน​ไป​ชม​การ​แข่งขัน​ดัง​กล่าว​ทุก​ปี. ใน​ช่วง​เวลา​เหล่า​นั้น​ลำ​น้ำ​แถบ​นี้​ที่​ปกติ​แล้ว​จะ​ไหล​ไป​อย่าง​เชื่อง​ช้า​ก็​กลับ​มี​ชีวิต​ชีวา​จริง ๆ.

โรงแรม​สุด​หรู​ที่​ล่อง​ลอย​ไป​ตาม​น้ำ

เรือ​งู​ไม่​ได้​เป็น​เรือ​เพียง​ชนิด​เดียว​ที่​ดึงดูด​ใจ​นัก​ท่อง​เที่ยว. เรือ​ที่​ได้​รับ​ความ​นิยม​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ คือ​เรือ​บรรทุก​ข้าวสาร ซึ่ง​เป็น​เรือ​แบบ​เก่า​ที่​ถูก​ดัด​แปลง​เป็น​บ้าน​พัก​แสน​หรู.

แม้​ว่า​เรือ​เหล่า​นั้น​หลาย​ลำ​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​ใช้​จะ​เป็น​เรือ​ที่​ต่อ​ขึ้น​ใหม่ แต่​เรือ​บรรทุก​ข้าวสาร​ที่​ยัง​ใช้​กัน​อยู่​ซึ่ง​มี​อายุ​กว่า​ร้อย​ปี​แล้ว​และ​ได้​ถูก​นำ​ไป​ใช้​เพื่อ​การ​ท่อง​เที่ยว. เดิม​ที​เรือ​เหล่า​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​เกตตุวัลลัม ซึ่ง​หมาย​ถึง “เรือ​ผูก.” เรือ​ทั้ง​ลำ​ทำ​จาก​แผ่น​ไม้​ที่​ได้​จาก​ต้น​ไม้​จำพวก​ขนุน และ​ผูก​ติด​กัน​ด้วย​เชือก​ที่​ทำ​จาก​กาบ​มะพร้าว​โดย​ไม่​ใช้​ตะปู​แม้​แต่​ดอก​เดียว. มี​การ​ใช้​เรือ​เหล่า​นี้​เพื่อ​ขน​ส่ง​ข้าวสาร​และ​สินค้า​ต่าง ๆ จาก​หมู่​บ้าน​หนึ่ง​ไป​อีก​หมู่​บ้าน​หนึ่ง และ​ขน​ส่ง​เครื่องเทศ​ไป​ยัง​ที่​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ออก​ไป. เมื่อ​มี​การ​ใช้​ยาน​พาหนะ​สมัย​ใหม่ เรือ​ดัง​กล่าว​ก็​แทบ​จะ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ล้า​สมัย​ไป​เลย. แต่​แล้ว​นัก​ลง​ทุน​หัว​ใส​ก็​เกิด​ความ​คิด​ที่​จะ​ดัด​แปลง​เรือ​เหล่า​นี้​ให้​เป็น​เรือ​ที่​เป็น​บ้าน​พัก​ใน​ตัว​สำหรับ​อุตสาหกรรม​การ​ท่อง​เที่ยว. เนื่อง​จาก​มี​ระเบียง ห้อง​นอน​ที่​ดู​โอ่อ่า​พร้อม​กับ​มี​ห้อง​น้ำ​ใน​ตัว แถม​ยัง​มี​เครื่อง​เรือน​ที่​สวย​งาม​ตกแต่ง​ไว้​ใน​ห้อง​นั่ง​เล่น เรือ​เหล่า​นี้​จึง​อาจ​เรียก​ได้​ว่า โรงแรม​ลอย​น้ำ. มี​การ​จัด​คน​เรือ​ให้​พา​คุณ​ล่อง​เรือ​ไป​ที่​ไหน​ก็​ได้​ที่​อยาก​ไป​และ​ทำ​อาหาร​อะไร​ก็​ได้​ที่​คุณ​อยาก​รับประทาน.

พอ​ถึง​ตอน​ค่ำ พวก​เขา​ก็​นำ​เรือ​เหล่า​นี้​มา​ทอด​สมอ​ไว้​ใกล้ ๆ ฝั่ง หรือ​ถ้า​ใคร​ต้องการ​ความ​สงบ​และ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​มาก​ขึ้น ก็​นำ​เรือ​ไป​ไว้​กลาง​ทะเลสาบ​ก็​ได้. ที่​นั่น คน​เรา​จะ​สามารถ​ดื่มด่ำ​กับ​บรรยากาศ​ที่​เงียบ​สงัด​ของ​ทะเลสาบ แต่​ก็​แน่​ล่ะ บาง​ครั้ง​อาจ​จะ​ได้​ยิน​เสียง​น้ำ​กระเซ็น​เพราะ​เจ้า​ปลา​ที่​ไม่​ยอม​หลับ​ยอม​นอน!

แต่​ก็​ใช่​ว่า​ทุก​ชีวิต​ใน​ลำ​น้ำ​จะ​มัว​แต่​พักผ่อน​หย่อนใจ. “ผู้​จับ​คน” ตื่น​อยู่​และ​ขยัน​ขันแข็ง​ใน​ท้อง​ที่​นั้น.

‘การ​จับ​คน’ ที่​อยู่​ตาม​ลำ​น้ำ

สำนวน “ผู้​จับ​คน” มา​จาก​ถ้อย​คำ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​กับ​ชาว​ประมง​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​กลาย​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระองค์. พระองค์​ตรัส​ว่า “ตาม​เรา​มา​เถิด แล้ว​เรา​จะ​ตั้ง​เจ้า​เป็น​ผู้​จับ​คน.” พระ​เยซู​กำลัง​กล่าว​ถึง​งาน​ช่วย​ผู้​คน​ให้​มา​เป็น​สาวก. (มัดธาย 4:18, 19; 28:19, 20) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ตลอด​ทั่ว​โลก รวม​ทั้ง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยู่​รอบ ๆ ลำ​น้ำ​นี้​กำลัง​ทำ​ให้​งาน​มอบหมาย​นี้​สำเร็จ​เป็น​จริง.

ใน​รัฐ​เกรละ​มี​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา 132 ประชาคม​รวม​ทั้ง 13 ประชาคม​ที่​อยู่​รอบ​ลำ​น้ำ​แถบ​นี้. หลาย​คน​ที่​อยู่​ใน​ประชาคม​เหล่า​นี้​มี​อาชีพ​เป็น​ชาว​ประมง. ขณะ​ที่​ออก​หา​ปลา พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ได้​พูด​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ให้​เพื่อน​ของ​เขา​ที่​เป็น​ชาว​ประมง​ฟัง. ไม่​นาน ชาย​คน​นั้น​เริ่ม​มอง​เห็น​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​คำ​สอน​ที่​โบสถ์​ของ​เขา​กับ​คำ​สอน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ภรรยา​และ​ลูก ๆ สี่​คน​ก็​มา​สนใจ​ด้วย. มี​การ​เริ่ม​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พวก​เขา. พวก​เขา​ก้าว​หน้า​อย่าง​รวด​เร็ว และ​สี่​ใน​หก​คน​ของ​ครอบครัว​นี้​รับ​บัพติสมา​แล้ว. ลูก​อีก​สอง​คน​กำลัง​มุ่ง​ไป​สู่​จุด​หมาย​เดียว​กัน.

สมาชิก​ของ​ประชาคม​หนึ่ง​ล่อง​เรือ​ไป​ยัง​เกาะ​เล็ก ๆ เพื่อ​ประกาศ​ที่​นั่น. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​เรือ​รับจ้าง​ไป​ที่​เกาะ​หรือ​ออก​จาก​เกาะ​นั้น​เป็น​ประจำ คน​ใน​ท้องถิ่น​นั้น​จึง​เรียก​เกาะ​นี้​ว่า​กา​ดา​มา​กุ​ดี ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “ถ้า​คุณ​เข้า​ไป​แล้ว​จะ​ออก​ไม่​ได้.” ที่​นั่น พยาน​ฯ พบ​จอห์นนี​กับ​รานี​ภรรยา​ของ​เขา. แม้​ว่า​เป็น​คาทอลิก​ตั้ง​แต่​เกิด แต่​พวก​เขา​ก็​เข้า​ร่วม​กับ​สำนัก​ฝึก​สมาธิ​และ​ได้​บริจาค​เงิน​เท่า​ที่​เขา​จะ​ให้​ได้​แก่​สำนัก​นั้น. จอห์นนี​สนใจ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​อย่าง​มาก และ​มี​การ​เริ่ม​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​เขา. เขา​เริ่ม​แบ่ง​ปัน​ข่าว​ดี​ที่​เขา​เพิ่ง​ค้น​พบ​ใหม่​ให้​แก่​คน​อื่น ๆ. ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​เขา​ให้​เลิก​สูบ​บุหรี่​และ​เลิก​ดื่ม​จัด​ได้!

งาน​อาชีพ​ของ​จอห์นนี​ไม่​สอดคล้อง​กับ​พระ​คัมภีร์ ดัง​นั้น​เขา​จึง​เปลี่ยน​งาน. ใน​ช่วง​แรก ๆ การ​เปลี่ยน​งาน​ทำ​ให้​ครอบครัว​ของ​เขา​ประสบ​ปัญหา​ด้าน​การ​เงิน​อย่าง​มาก. แต่​ใน​ไม่​ช้า จอห์นนี​ก็​เริ่ม​จับ​ปู​ขาย​และ​ด้วย​เหตุ​นี้​เขา​จึง​สามารถ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ได้. เขา​รับ​บัพติสมา​เมื่อ​เดือน​กันยายน ปี 2006 และ​หลัง​จาก​นั้น​อีก​หนึ่ง​ปี​ภรรยา​กับ​ลูก​สอง​คน​ก็​รับ​บัพติสมา. ความ​หวัง​ที่​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ตลอด​ไป​ใน​โลก​ที่​เป็น​อุทยาน​ได้​เปลี่ยน​ทัศนะ​ที่​เขา​มี​ต่อ​ชีวิต​อย่าง​สิ้นเชิง.—บทเพลง​สรรเสริญ 97:1; 1 โยฮัน 2:17.

การ​ไป​เที่ยว​ชม​ลำ​น้ำ​ต่าง ๆ แห่ง​รัฐ​เกรละ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​สนุก​เพลิดเพลิน​จริง ๆ. แต่​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​เพลิดเพลิน​มาก​ไม่​ใช่​เพราะ​ยอ​จับ​ปลา​แบบ​ชาว​จีน, เรือ​งู, และ​เรือ​ที่​เป็น​บ้าน​พัก​ใน​ตัว​เท่า​นั้น แต่​เพราะ “ผู้​จับ​คน” ซึ่ง​ก็​คือ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​อยู่​ที่​นั่น.

[แผนที่​หน้า 22, 23]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อินเดีย

เกรละ

[ภาพ​หน้า 23]

การ​จับ​ปลา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ใน​เกรละ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Top photo: Salim Pushpanath

[ภาพ​หน้า 23]

พวก​ผู้​หญิง​จับ​ปลา​ด้วย​มือ​เปล่า

[ภาพ​หน้า 24]

การ​แข่ง​เรือ​งู

[ภาพ​หน้า 24]

“เกตตุวัลลัม”

[ภาพ​หน้า 24, 25]

เรือ​ที่​เป็น​บ้าน​พัก​ใน​ตัว

[ภาพ​หน้า 24, 25]

จอห์นนี​กับ​ภรรยา​ของ​เขา​รานี

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

Salim Pushpanath