ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตในโลกมืดบอด

ชีวิตในโลกมืดบอด

“ฉันเกือบจะตาบอดตั้งแต่วันแรกที่เกิดมา เพราะถูกหยอดตาด้วยยาที่แรงมาก แล้วสายตาของฉันก็ค่อย ๆ แย่ลงจนบอดสนิทตอนเป็นวัยรุ่น จากนั้นฉันก็เลยกลายเป็นคนซึมเศร้า”—ปาคี หญิงวัยกลางคนที่มีสามีตาบอดเหมือนกัน

ความบกพร่องทางการมองเห็นอย่างร้ายแรงหรือที่เรียกว่าตาบอด อาจเกิดจากหลายสาเหตุรวมถึงการได้รับบาดเจ็บและป่วยเป็นโรคบางโรค ซึ่งอาจส่งผลต่อดวงตา เส้นประสาทตา หรือสมอง คนที่สูญเสียการมองเห็นเกือบทั้งหมดหรือคนที่ตาบอดสนิทมักจะรับสภาพตัวเองไม่ได้ โศกเศร้า แล้วก็กลัว แต่หลายคนก็เรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ และปรับตัวได้ดีจนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

โดยปกติแล้ว ตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูลจากโลกรอบตัว ดังนั้น ถ้าใครสูญเสียการมองเห็น เขาจะหันไปพึ่งประสาทสัมผัสอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ฟังเสียง ดมกลิ่น ชิมรส และใช้มือจับหรือคลำสิ่งต่าง ๆ

วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมองแสดงว่า สมองของคนเราสามารถ “ปรับเปลี่ยนตามประสบการณ์ที่เจอ” บทความนั้นบอกอีกว่า “มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าเมื่อสมองไม่ได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัสอย่างหนึ่ง สมองก็จะไปควบคุมการทำงานของประสาทสัมผัสอื่น ๆ และทำให้ประสาทสัมผัสเหล่านั้นทำงานได้ดีขึ้น” เช่น ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การฟังเสียง: เสียงอาจช่วยสร้างภาพในสมองของเราได้ ตั้งแต่เสียงพูดไปจนถึงเสียงฝีเท้า ชายตาบอดคนหนึ่งที่ชื่อเฟอร์นันโดบอกว่า “ผมฝึกจำและแยกแยะว่าใครเป็นใคร โดยฟังจากเสียงพูดและเสียงฝีเท้าของพวกเขา” ฮวนซึ่งก็ตาบอดเหมือนกันบอกว่า “สำหรับคนตาบอด เสียงคือเอกลักษณ์ของคนคนหนึ่ง เสียงจะบอกให้รู้ว่าเขาคนนั้นเป็นใคร” และคนตาบอดก็เหมือนกับเราที่สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้โดยฟังจากน้ำเสียง

สำหรับคนตาบอดที่ฝึกหูจนจับเสียงได้ไวมาก เสียงยังบอกให้เขารู้อะไร ๆ หลายอย่างที่อยู่รอบตัวเขา เช่น เสียงบอกให้รู้ทิศทางของรถ ขนาดของห้อง รวมทั้งตำแหน่งของวัตถุที่อาจขวางทางอยู่

การดมกลิ่น: การดมกลิ่นยังทำให้คนตาบอดรู้ข้อมูลหลายอย่าง ไม่ใช่แค่รู้ว่ากลิ่นมาจากไหนเท่านั้น อย่างเช่น เมื่อคนตาบอดเดินไปตามถนน กลิ่นที่โชยมาเข้าจมูกอาจช่วยเขาให้วาดแผนที่ขึ้นในสมอง ซึ่งในแผนที่นั้นก็อาจมีทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร ตลาดนอกจากกลิ่นแล้ว เสียงที่คุ้นเคยรวมทั้งรายละเอียดที่ได้จากการสัมผัสจะทำให้แผนที่ในสมองของเขาชัดเจนขึ้น

การสัมผัส: ฟรานซิสโกบอกว่า “นิ้วก็คือตาของผม” ส่วน “ตา” จะมองไปได้ไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับไม้เท้า มานาเซที่ตาบอดตั้งแต่เกิดและได้ฝึกใช้ไม้เท้าตอนเป็นเด็กเล่าว่า “ที่ผมรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนก็เพราะใช้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ ช่วย ผมใช้ความจำและใช้ไม้เท้าแตะไปบนแผ่นปูพื้นนำทางคนตาบอด”

อ่านวารสารหอสังเกตการณ์ อักษรเบรลล์

การสัมผัสด้วยนิ้วมือยังช่วยคนตาบอดหลายคนให้สามารถอ่านหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ทำเป็นอักษรเบรลล์ด้วย ที่จริง สมัยนี้มีการจัดเตรียมหลายอย่างเพื่อคนตาบอด ทำให้พวกเขาเข้าถึงวิทยาการและความรู้ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน และมีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องศาสนาด้วย นอกจากสิ่งพิมพ์อักษรเบรลล์แล้ว ยังมีการบันทึกเสียงและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยคนตาบอด และเครื่องมือเหล่านี้ก็ช่วยคนตาบอดให้สามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคู่มือเรียนคัมภีร์ไบเบิลที่ผลิตออกมามากมายได้ *

เครื่องมือเหล่านี้ที่ทำขึ้นเพื่อช่วยคนตาบอดให้ได้เรียนรู้เรื่องพระเจ้า ได้ทำให้ปาคีกับสามีของเธอที่พูดถึงในตอนต้นมีความสุขมากจริง ๆ และยังทำให้พวกเขามีความหวังด้วย พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนคริสเตียนมากมายซึ่งเปรียบเหมือนกับพ่อแม่พี่น้องของเขาในประชาคมของพยานพระยะโฮวา ปาคีบอกว่า “ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่ไม่เป็นภาระกับคนอื่น”

ที่จริง การเป็นคนตาบอดทำให้ต้องเจอกับข้อท้าทายที่ยากมาก แต่ก็เป็นหลักฐานที่ดีเยี่ยมว่า มนุษย์สามารถปรับตัว สู้กับปัญหา แล้วก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข!

^ วรรค 10 พยานพระยะโฮวาผลิตคู่มือเรียนคัมภีร์ไบเบิลเป็นอักษรเบรลล์มากกว่า 25 ภาษา