คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ที่ 2 โกรินโธ 6:14 เปาโลพาดพิงถึงใครเมื่อท่านใช้คำว่า “คนที่ไม่เชื่อ”?
ที่ 2 โกรินโธ 6:14 เราอ่านว่า “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ.” หากเราดูจากบริบท เห็นได้ชัดว่า เปาโลกำลังพูดถึงคนที่ไม่ได้เป็นส่วนของประชาคมคริสเตียนอย่างแท้จริง. ความเข้าใจนี้ได้รับการสนับสนุนจากข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบันทึกการที่เปาโลใช้คำว่า “คนที่ไม่เชื่อ.”
ยกตัวอย่างเช่น เปาโลตำหนิคริสเตียนที่ไปว่าความกัน “ต่อหน้าคนที่ไม่เชื่อ.” (1 โกรินโธ 6:6) ในที่นี้ คนที่ไม่เชื่อได้แก่พวกผู้พิพากษาในระบบศาลของเมืองโครินท์. ในจดหมายฉบับที่สอง เปาโลกล่าวว่า ซาตาน “ได้กระทำใจของคนที่ไม่เชื่อให้มืดไป.” ตาของคนที่ไม่เชื่อเหล่านั้นถูก ‘ปิดคลุม’ จากข่าวดี. คนที่ไม่เชื่อเหล่านี้ไม่ได้แสดงความสนใจในการรับใช้พระยะโฮวา เนื่องจากเปาโลอธิบายก่อนหน้านี้ว่า “เมื่อคนใดจะกลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า, ผ้าคลุมนั้นจะเปิดออก.”—2 โกรินโธ 3:16; 4:4.
คนที่ไม่เชื่อบางคนเข้าไปพัวพันกับการละเลยกฎหมายหรือการไหว้รูปเคารพ. (2 โกรินโธ 6:15, 16) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนที่ไม่เชื่อทุกคนได้ต่อต้านเหล่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. บางคนแสดงความสนใจในความจริง. หลายคนมีคู่สมรสที่เป็นคริสเตียนและเต็มใจที่จะอยู่กับคู่ของตน. (1 โกรินโธ 7:12-14; 10:27; 14:22-25; 1 เปโตร 3:1, 2) อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เปาโลใช้คำ “คนที่ไม่เชื่อ” อย่างเสมอต้นเสมอปลายกับคนที่ไม่ได้เป็นส่วนของประชาคมคริสเตียน ซึ่งประกอบด้วย “ผู้เชื่อถือในองค์พระผู้เป็นเจ้า.”—กิจการ 2:41; 5:14, ล.ม.; 8:12, 13.
หลักการที่พบใน 2 โกรินโธ 6:14 เป็นการชี้นำอันมีค่าสำหรับคริสเตียนในทุกสภาพการณ์ของชีวิต และบ่อยครั้งได้มีการยกข้อนี้ขึ้นมาว่าเป็นคำแนะนำอันฉลาดสุขุมสำหรับคริสเตียนที่กำลังเสาะหาคู่สมรส. (มัดธาย 19:4-6) คริสเตียนที่ฉลาดสุขุมซึ่งได้อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้ว ไม่เสาะหาคู่สมรสในหมู่คนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อ เนื่องจากค่านิยม, เป้าหมาย, และความเชื่อของคนที่ไม่เชื่อนั้นแตกต่างกันมากจากคนเหล่านั้นที่เป็นคริสเตียนแท้.
แต่จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคบหาสมาคมกับประชาคมคริสเตียน? จะว่าอย่างไรสำหรับคนเหล่านั้นที่เป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา? พวกเขาเป็นคนที่ไม่เชื่อไหม? ไม่. คนที่ได้ตอบรับความจริงแห่งข่าวดีและกำลังก้าวหน้าเรื่อย ๆ สู่การรับบัพติสมาไม่ควรถูกเรียกว่าคนที่ไม่เชื่อ. (โรม 10:10; 2 โกรินโธ 4:13) ก่อนที่จะรับบัพติสมา โกระเนเลียวถูกเรียกว่า “คนเกรงกลัวพระเจ้า.”—กิจการ 10:2.
ถ้าเช่นนั้น จะเป็นการฉลาดสุขุมไหมสำหรับคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วที่จะติดต่อฝากรักและสมรสกับบางคนซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา เนื่องจากพูดกันตามตรงแล้ว คำแนะนำของเปาโลที่บันทึกไว้ใน 2 โกรินโธ 6:14 ไม่อาจใช้ได้ในกรณีนี้? ไม่ นั่นไม่ฉลาดสุขุมอยู่ดี. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เนื่องจากคำแนะนำโดยตรงที่เปาโลให้แก่หญิงม่ายคริสเตียน. เปาโลเขียนว่า “นางก็มีอิสระสมรสกับชายใดได้ตามใจนาง, แต่ต้องสมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า [“เฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น,” ล.ม.].” (1 โกรินโธ 7:39) สอดคล้องกับคำแนะนำนั้น คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วได้รับการกระตุ้นให้เสาะหาคู่สมรสในหมู่คนเหล่านั้นที่อยู่ “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” เท่านั้น.
อะไรคือความหมายของคำว่า “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” และคำที่เกี่ยวข้องกันคือคำว่า “ของพระคริสต์”? เปาโลกล่าวถึงคนที่เป็น “ของพระคริสต์” หรืออยู่ “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่โรม 16:8-10 และโกโลซาย 4:7 (ล.ม.). หากคุณอ่านข้อเหล่านั้น คุณจะเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็น “ผู้ร่วมมือด้วยกัน,” “ผู้เป็นที่ชอบพระทัย,” “พี่น้องที่รัก,” “ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์,” และ “เพื่อนทาส.”
เมื่อไรที่คนเรากลายมาเป็น “ทาสในองค์พระผู้เป็นเจ้า”? นั่นเกิดขึ้นเมื่อเขาเต็มใจทำในสิ่งที่ทาสจำต้องทำและปฏิเสธตัวเอง. พระเยซูทรงอธิบายว่า “ถ้าผู้ใดต้องการตามเรามา ก็ให้ผู้นั้นปฏิเสธตัวเอง และรับเอาเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) คนเราเริ่มติดตามพระคริสต์และยอมตัวอยู่ใต้น้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างเต็มที่ เมื่อเขาอุทิศตัวแด่พระเจ้า. หลังจากนั้น เขาเสนอตัวเพื่อรับบัพติสมาและกลายมาเป็นผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งมีฐานะอันเป็นที่ชอบจำเพาะพระยะโฮวาพระเจ้า. * ดังนั้นแล้ว ‘การแต่งงานในองค์พระผู้เป็นเจ้า’ หมายถึงการสมรสกับคนที่ได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นผู้เชื่อถือจริง ๆ ซึ่งเป็น “ทาสของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์เจ้า” ที่ได้อุทิศตัวแล้ว.—ยาโกโบ 1:1.
คนที่กำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาและคนที่กำลังทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเป็นอย่างดีสมควรได้รับคำชมเชย. อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและให้คำมั่นที่จะใช้ชีวิตเพื่อการรับใช้และการเสียสละ. เขายังต้องทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อไป. เขาจำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้ครบถ้วนรวมถึงการเข้ามาเป็นคริสเตียนที่ได้อุทิศตัวและรับบัพติสมา ก่อนจะคิดใคร่ครวญถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอื่น ๆ ในชีวิต เช่น การสมรส.
เป็นการสมควรไหมสำหรับคริสเตียนที่จะติดต่อฝากรักกับบางคนซึ่งดูเหมือนกำลังทำความก้าวหน้าเป็นอย่างดีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล—บางทีโดยตั้งใจจะรอจนกว่าเขารับบัพติสมาเสียก่อนแล้วจึงค่อยสมรสกับเขา? ไม่สมควร. เจตนาของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอาจเกิดความสับสน หากเขาทราบว่าคริสเตียนที่ได้อุทิศตัวแล้วต้องการสมรสกับเขา ทว่าจะไม่ทำเช่นนั้นจนกว่าเขาได้รับบัพติสมาแล้ว.
ส่วนใหญ่แล้ว คนเราเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมาเพียงช่วงเวลาจำกัดเท่านั้น จนกระทั่งเขาก้าวหน้าถึงขั้นรับบัพติสมา. ดังนั้น คำแนะนำข้างต้นที่ให้สมรสเฉพาะในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับการติดต่อฝากรักกับคนที่ถึงวัยแต่งงานแล้ว, ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวคริสเตียน, มีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาคมมาหลายปี, และเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา? หากเป็นเช่นนั้น อะไรขัดขวางเขาไว้จากการมอบชีวิตของเขาเพื่ออุทิศตัวแด่พระยะโฮวา? เหตุใดเขาจึงลังเลใจ? เขามีข้อสงสัยไหม? ถึงแม้เขาไม่ใช่คนที่ไม่เชื่อ แต่เขาก็ไม่อาจถูกเรียกว่าอยู่ “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า.”
คำแนะนำของเปาโลในเรื่องการสมรสเป็นประโยชน์สำหรับพวกเรา. (ยะซายา 48:17) เมื่อทั้งสองคนที่จะเป็นคู่ครองกันได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา ข้อผูกมัดต่อกันและกันในการสมรสจะมีรากฐานฝ่ายวิญญาณที่มั่นคง. ทั้งสองมีค่านิยมและเป้าหมายเดียวกัน. นี่เป็นส่วนส่งเสริมที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตสมรสที่มีความสุข. นอกจากนั้น โดย ‘การแต่งงานในองค์พระผู้เป็นเจ้า’ คนเราแสดงความภักดีต่อพระยะโฮวา และจึงนำไปสู่พระพรถาวร เพราะ “[พระยะโฮวา] จะทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.”—บทเพลงสรรเสริญ 18:25, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งเปาโลเขียนจดหมายถึงในตอนแรก การเป็น “ทาสในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ยังหมายรวมถึงการได้รับการเจิมฐานะเป็นเหล่าบุตรของพระเจ้าและพี่น้องของพระคริสต์.
[ภาพหน้า 31]
“[พระยะโฮวา] จะทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี”