ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว

มีความสุขกับการแต่งงานครั้งที่สอง

มีความสุขกับการแต่งงานครั้งที่สอง

เฮอร์มัน: * “ภรรยาคนแรกของผมเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งหลังจากเราอยู่ด้วยกันมา 34 ปี. เมื่อผมแต่งงานใหม่ ลินดาภรรยาของผมรู้สึกว่าผมชอบเปรียบเทียบเธอกับภรรยาคนแรก. ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ พวกเพื่อนเก่าชอบพูดว่าภรรยาคนแรกของผมดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ และคำพูดของพวกเขาทำให้ลินดาน้อยใจ.”

ลินดา: “หลังจากฉันแต่งงานกับเฮอร์มัน ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่เงาของภรรยาคนก่อน. ใครๆก็รักเธอ แถมยังบอกว่าเธอน่ารัก พูดจานุ่มนวล และดีไปหมดทุกอย่าง. บางครั้งฉันนึกสงสัยว่าเขาจะรักฉันได้อย่างที่เขาเคยรักภรรยาคนก่อนไหม.”

เฮอร์มันและลินดาดีใจที่ได้มารู้จักกัน. ลินดาซึ่งหย่าขาดจากสามีคนแรกถึงกับเรียกเฮอร์มันว่า “พระเอกขี่ม้าขาวของฉัน.” แต่พวกเขายอมรับว่าการแต่งงานครั้งที่สองก็มีปัญหาในแบบที่ต่างจากการแต่งงานครั้งแรก. *

ถ้าคุณแต่งงานครั้งที่สอง คุณรู้สึกอย่างไรกับการแต่งงานครั้งนี้? ทามารา ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งแต่งงานใหม่หลังจากหย่าร้างได้สามปีบอกว่า “ตอนแต่งงานครั้งแรก คุณมีความสุขมากและคิดว่าชีวิตคู่ของคุณจะยั่งยืนตลอดไป. แต่พอแต่งงานครั้งที่สอง ความรู้สึกของคุณอาจเปลี่ยนไปเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่าชีวิตแต่งงานอาจสิ้นสุดลงได้.”

อย่างไรก็ตาม มีหลายคู่ที่พบความสุขแท้และความรักที่ยั่งยืนในการแต่งงานครั้งใหม่. พวกเขาร่วมมือกันเพื่อให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จ และคุณก็ทำได้เช่นกัน! โดยวิธีใด? ให้เรา มาดูปัญหาสามอย่างที่พบบ่อยและหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยคุณแก้ปัญหาเหล่านั้นได้. *

ปัญหา 1: คุณพยายามไม่ให้เงาของคู่ชีวิตคนก่อนมาบดบังชีวิตสมรสครั้งใหม่.

เอลเลน ซึ่งอยู่ในแอฟริกาใต้บอกว่า “ฉันไม่อาจลบความทรงจำเกี่ยวกับการแต่งงานครั้งแรกออกไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเราไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆที่ฉันเคยไปกับสามีคนก่อน. บางครั้งฉันอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสามีใหม่กับสามีเก่า.” ในทางกลับกัน ถ้าคู่ของคุณเคยแต่งงานมาแล้ว คุณอาจรู้สึกไม่พอใจถ้าเขาชอบพูดถึงอดีตคู่สมรสบ่อยๆ.

สร้างความทรงจำใหม่ๆกับคู่ชีวิตใหม่ของคุณ

ข้อแนะ: ยอมรับความจริงว่าคุณไม่มีทางทำให้คู่สมรสลืมการแต่งงานครั้งแรกของเขาได้ โดยเฉพาะถ้าเขาเคยอยู่กินกันมานานหลายปี. ที่จริง บางคนยอมรับว่าเขาเคยเผลอเรียกคู่สมรสด้วยชื่อของอดีตสามีหรือภรรยาโดยไม่ตั้งใจ! คุณจะทำอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้? คัมภีร์ไบเบิลแนะนำว่า “จงเห็นใจกัน.”—1 เปโตร 3:8, ฉบับฟื้นฟู

อย่าอิจฉาหรือหึงหวงถึงขนาดห้ามคู่สมรสเอ่ยถึงการแต่งงานครั้งก่อน. ถ้าคู่ของคุณอยากพูดถึงชีวิตแต่งงานกับคนก่อน ขอให้คุณฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจและพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา. นอกจากนั้น อย่าด่วนสรุปว่าคุณกำลังถูกเปรียบเทียบ. เอียน ซึ่งแต่งงานใหม่สิบปีมาแล้วกล่าวถึงภรรยาของเขาว่า “แคตลีนไม่เคยห้ามผมพูดถึงภรรยาเก่า แต่เธอกลับเห็นว่าเรื่องราวในอดีตของผมจะช่วยให้เธอเข้าใจผมมากขึ้น.” การพูดคุยกันอย่างเปิดใจเช่นนั้นอาจช่วยให้คุณกับคู่สมรสใหม่สนิทสนมกันมากขึ้นด้วยซ้ำ.

ขอให้คิดถึงลักษณะนิสัยและคุณสมบัติที่ดีของคู่ชีวิตคนปัจจุบัน. จริงอยู่ เขาอาจไม่มีคุณสมบัติหรือความสามารถบางอย่างเหมือนกับคู่สมรสคนก่อน. แต่เขาก็คงมีข้อดีและจุดเด่นของตัวเองในเรื่องอื่นๆ. ดังนั้น คุณควรเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับคู่ชีวิตคนใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง “ไม่ใช่ด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่น” แต่คิดถึงคุณสมบัติที่ดีของคู่สมรสใหม่ที่ทำให้คุณรักเขา. (กาลาเทีย 6:4) เอดมันด์ ชายคนหนึ่งซึ่งแต่งงานเป็นครั้งที่สองให้ความเห็นว่า “มิตรภาพของคนสองคู่ไม่มีทางเหมือนกันได้ การแต่งงานสองครั้งก็ย่อมไม่เหมือนกัน.”

คุณจะเก็บความทรงจำดีๆเกี่ยวกับชีวิตสมรสครั้งแรกไว้ในขณะที่พยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคู่สมรสคนที่สองได้อย่างไร? จาเรด บอกว่า “ผมบอกภรรยาว่าชีวิตสมรสครั้งแรกของผมก็เหมือนหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งซึ่งผมกับภรรยาคนแรกช่วยกันเขียนขึ้นมา. บางครั้งผมอาจหยิบมาเปิดดูแล้วคิดถึงเรื่องราวดีๆในอดีต. แต่ชีวิตผมไม่ได้อยู่ ในหนังสือเล่มนั้น. ตอนนี้ผมกับภรรยากำลังช่วยกันเขียนหนังสือของเราเอง และนี่คือชีวิตปัจจุบันที่ผมอยู่อย่างมีความสุข.”

ลองวิธีนี้: ถามคู่ของคุณว่าเขารู้สึกอึดอัดใจไหมเวลาที่คุณพูดถึงการแต่งงานครั้งแรก. คุยกันว่าตอนไหนที่คุณรู้สึกว่าไม่ควรเอ่ยถึงการแต่งงานครั้งแรกมากที่สุด.

ปัญหา 2: คุณพยายามรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าๆซึ่งยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับคู่สมรสใหม่ของคุณ.

คัฟเยร์ ซึ่งแต่งงานใหม่หลังจากหย่าร้างได้หกปีเล่าว่า “พอแต่งงานได้ระยะหนึ่ง ภรรยาของผมรู้สึกว่าเพื่อนผมบางคนคอยจับตาดูและวิพากษ์วิจารณ์เธอ.” ส่วนลีโอก็เจออีกปัญหาหนึ่ง. เขาเล่าว่า “บางคนบอกภรรยาผมต่อหน้าต่อตาผมเลยว่าพวกเขารักและคิดถึงสามีเก่าของเธอมากแค่ไหน!”

ข้อแนะ: พยายามเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนเหล่านั้น. เอียนซึ่งกล่าวถึงตอนต้นบอกว่า “ผมคิดว่าเพื่อนๆบางคนคงรู้สึกเจ็บปวดหรือกระอักกระอ่วนใจเวลาเจอกับคู่สมรสใหม่ของเพื่อนเพราะพวกเขายังไม่รู้จักกัน.” ดังนั้น “[จง] มีเหตุผล แสดงความอ่อนโยนต่อทุกคน.” (ทิทุส 3:2) คุณควรให้เวลาเพื่อนๆและครอบครัวได้ปรับตัว. เมื่อคู่ชีวิตเปลี่ยน เพื่อนฝูงก็อาจต้องเปลี่ยนไปด้วย. คัฟเยร์ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่าเมื่อเวลาผ่านไป เขากับภรรยาก็เริ่มสนิทกับเพื่อนเก่าอีกครั้ง. เขายังบอกอีกว่า “แต่เราก็มีเพื่อนใหม่ๆซึ่งเป็นเพื่อนของเราทั้งคู่ และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้นด้วย.”

ขอให้คิดถึงความรู้สึกของคู่สมรสเมื่อเจอกับเพื่อนเก่า. ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนๆเริ่มพูดถึงคู่สมรสคนก่อนของคุณ คุณ ควรหาวิธีแก้ไขสถานการณ์อย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้คู่สมรสใหม่รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนเกิน. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดพล่อยๆของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่; แต่ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.”—สุภาษิต 12:18

ลองวิธีนี้: คิดดูว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้คุณหรือคู่สมรสรู้สึกไม่สบายใจ. ซักซ้อมไว้ก่อนว่าจะตอบอย่างไรถ้าเพื่อนๆพูดถึงการแต่งงานครั้งก่อนของคุณ.

ปัญหา 3: คุณพยายามเชื่อใจคู่สมรสใหม่เพราะเคยถูกอดีตสามีหรือภรรยานอกใจ.

แอนดรูว์ ซึ่งถูกภรรยาคนแรกทิ้งไปและต่อมาแต่งงานใหม่กับไรลีย์บอกว่า “ผมกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกทรยศอีก.” เขายังบอกอีกว่า “ผมนึกสงสัยอยู่บ่อยๆว่าผมจะเป็นสามีที่ดีได้เหมือนกับสามีคนแรกของไรลีย์หรือเปล่า. ผมถึงกับกังวลว่าเธออาจคิดว่าผมไม่ดีพอแล้วทิ้งผมไปหาคนอื่น.”

ข้อแนะ: บอกคู่สมรสของคุณตรงๆว่าคุณคิดหรือรู้สึกอย่างไร. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อไม่มีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาแผนการก็ล้มเหลว.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) ในที่สุด การพูดคุยแบบตรงไปตรงมาก็ช่วยให้แอนดรูว์กับไรลีย์ไว้ใจกัน. แอนดรูว์เล่าว่า “ผมบอกไรลีย์ว่าผมจะไม่มีวันแก้ปัญหาระหว่างเราด้วยการหย่า และไรลีย์ก็ยืนยันอย่างเดียวกัน. เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็สามารถเชื่อเธอได้อย่างหมดใจ.”

ถ้าคู่สมรสใหม่ของคุณเคยถูกนอกใจมาก่อน ขอให้คุณพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อให้เขาไว้ใจคุณ. ตัวอย่างเช่น มิเชลและซาบีนซึ่งผ่านการหย่าร้างมาแล้วทั้งคู่ตกลงกันว่าพวกเขาจะบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องติดต่อกับอดีตคู่สมรส. ซาบีนบอกว่า “การทำข้อตกลงแบบนี้ช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจและสบายใจขึ้น.”—เอเฟโซส์ 4:25

ลองวิธีนี้: จำกัดขอบเขตการพูดคุยแบบสองต่อสองกับเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยโดยตรง ทางโทรศัพท์ หรือทางอินเทอร์เน็ต.

คู่สมรสหลายคู่สามารถประสบความสำเร็จกับการแต่งงานครั้งที่สอง คุณก็ทำได้เช่นกัน. ถ้าจะว่าไป ตอนนี้คุณคงรู้จักตัวเองดีขึ้นเมื่อเทียบกับตอนแต่งงานครั้งแรก. แอนดรูว์ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกับไรลีย์ ผมมีความสุขและสบายใจจริงๆ. เราแต่งงานกันมา 13 ปีแล้ว. เรารู้สึกใกล้ชิดกันมากและเราจะไม่ยอมให้อะไรมาพรากเราจากกัน.”

^ วรรค 3 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.

^ วรรค 5 ปัญหาของแต่ละคู่อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าการแต่งงานครั้งแรกจบลงด้วยสาเหตุใด. แต่คำแนะนำในบทความนี้สามารถช่วยทั้งคนที่เคยหย่าร้างหรือเป็นม่ายเพราะคู่สมรสเสียชีวิตให้มีความสุขกับการแต่งงานครั้งที่สองได้.

^ วรรค 7 สำหรับคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงดูลูกเลี้ยง โปรดดูบทความชุด “วิธีรับมือข้อท้าทายของครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง” ในวารสารตื่นเถิด! ฉบับเมษายน 2012 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

ถามตัวเองว่า . . .

  • คู่สมรสคนปัจจุบันมีคุณสมบัติอะไรที่ฉันประทับใจเป็นพิเศษ?

  • ถ้ามีคนพูดถึงอดีตคู่สมรสของฉัน ฉันจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรเพื่อไม่ให้คู่สมรสใหม่รู้สึกน้อยใจหรืออับอายขายหน้า?