ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภาษาของเรามีต้นกำเนิดจาก “หอบาเบล” หรือ?

ภาษาของเรามีต้นกำเนิดจาก “หอบาเบล” หรือ?

“พระยะโฮวาจึงทรงบันดาลให้เขาพลัดพรากจากที่นั่นไปทั่วพื้นแผ่นดินโลก; คนทั้งหลายก็เลิกการสร้างเมืองนั้นเสีย. เหตุฉะนี้จึงเรียกชื่อหอนั้นว่าบาเบล; เพราะว่าที่นั่นพระยะโฮวาทรงบันดาลภาษาของเขาให้วุ่นวายไป.”—เยเนซิศ 11:8, 9

เหตุการณ์นี้ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเคยเกิดขึ้นจริงไหม? จู่ๆมนุษย์ก็เริ่มพูดกันคนละภาษาอย่างที่บอกไว้ในพระคัมภีร์ไหม? บางคนเยาะเย้ยเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการกำเนิดและแพร่กระจายของภาษาต่างๆของมนุษย์. นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า “ตำนานหอคอยบาเบลเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยเล่าขานกันมา.” แม้แต่รับบีชาวยิวคนหนึ่งก็ยังบอกว่าเรื่องนี้เป็น “ความพยายามที่โง่เขลาในการอธิบายต้นกำเนิดของชาติต่างๆ.”

ทำไมผู้คนไม่เชื่อบันทึกเรื่องหอบาเบล? คำตอบง่ายๆคือ เรื่องนี้ขัดแย้งกับบางทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของภาษา. ตัวอย่างเช่น นักวิชาการบางคนบอกว่ากลุ่มภาษาต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นแบบกะทันหันแต่ค่อยๆวิวัฒนาการมาจาก “ภาษาแม่” ภาษาเดียว. บางคนก็เชื่อว่าภาษาดั้งเดิมหลายภาษาพัฒนาจากเสียงพูดที่ไม่เป็นคำจนกลายมาเป็นเสียงพูดที่สลับซับซ้อน. ทฤษฎีเหล่านี้รวมทั้งสมมุติฐานอื่นๆที่ขัดแย้งกันทำให้หลายคนเห็นด้วยกับศาสตราจารย์ดับเบิลยู. ที. ฟิตช์ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อวิวัฒนาการของภาษา (ภาษาอังกฤษ) ว่า “เรายังไม่พบคำตอบที่น่าเชื่อถือจริงๆในเรื่องนี้.”

นักโบราณคดีและนักวิจัยค้นพบอะไรบ้างเกี่ยวกับต้นกำเนิดและพัฒนาการของภาษามนุษย์? สิ่งที่พวกเขาพบสนับสนุนทฤษฎีใดๆที่พวกเขาตั้งขึ้นไหม? หรือว่าหลักฐานที่ค้นพบสนับสนุนบันทึกเรื่องหอบาเบล? ก่อนอื่น ให้เรามาพิจารณาบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียด.

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร?

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความสับสนวุ่นวายของภาษาและการกระจัดกระจายของมนุษย์เกิดขึ้น “ในดินแดนชินาร์” ซึ่งต่อมาเรียกว่าบาบิโลเนีย. (เยเนซิศ 11:2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “โลก [ประชากรโลก] ถูกแบ่งแยก” ในสมัยของเพเล็ฆ ซึ่งเกิดก่อนอับราฮามประมาณ 250 ปี. ดังนั้น เหตุการณ์วุ่นวาย ที่หอบาเบลคงต้องเกิดขึ้นราวๆ 4,200 ปีมาแล้ว.—เยเนซิศ 10:25; 11:18-26

นักวิชาการบางคนเสนอทฤษฎีที่ว่าภาษาต่างๆในปัจจุบันแยกมาจากภาษาต้นตระกูลเดียวกันที่เรียกว่าภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่มนุษย์เคยพูดกันเมื่อเกือบ 100,000 ปีที่แล้ว. * คนอื่นๆอ้างว่าภาษาที่เราใช้ในปัจจุบันเชื่อมโยงกับรากภาษาของหลายภาษาที่พูดกันเมื่อ 6,000 ปีที่แล้ว. นักภาษาศาสตร์เข้าใจพัฒนาการของภาษาโบราณที่สาบสูญไปแล้วได้อย่างไร? วารสารดิ อิโคโนมิสต์ กล่าวว่า “เรื่องนี้ยากอยู่เหมือนกัน. นักภาษาศาสตร์ไม่มีฟอสซิลช่วยไขความลับในอดีตเหมือนนักชีววิทยา.” วารสารฉบับนี้ยังบอกด้วยว่า นักภาษาศาสตร์ที่ศึกษาวิวัฒนาการของภาษาได้หาข้อสรุปสำหรับทฤษฎีของตนโดยอาศัย “การคำนวณจากสมมุติฐานและการคาดคะเน.”

อย่างไรก็ตาม “ฟอสซิลทางภาษาศาสตร์” มีอยู่จริง. ฟอสซิลเหล่านี้คืออะไรและเผยให้รู้อะไรเกี่ยวกับต้นกำเนิดของภาษามนุษย์? สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ อธิบายว่า “บันทึกภาษาเขียนที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นฟอสซิลทางภาษาศาสตร์เพียงอย่างเดียวที่มนุษย์จะหาได้ มีอายุย้อนไปแค่ 4,000 หรือ 5,000 ปีเท่านั้น.” นักโบราณคดีพบ “ฟอสซิลทางภาษาศาสตร์” หรือ “บันทึกภาษาเขียน” เหล่านี้ที่ไหน? ที่เมโสโปเตเมียตอนล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของดินแดนชินาร์ในอดีต. * ดังนั้น หลักฐานทางโบราณวัตถุที่นักวิชาการค้นพบสอดคล้องลงรอยกับรายละเอียดที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.

ต่างภาษา ต่างความคิด

บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าที่บาเบล พระเจ้าได้ทรง “ทำให้ภาษาของเขาวุ่นวายต่างกันไป” เพื่อไม่ให้ “เขาพูดเข้าใจกันได้.” (เยเนซิศ 11:7) ผลก็คือ ผู้คน “เลิกการสร้างเมือง” บาเบลและกระจัดกระจายไป “ทั่วพื้นแผ่นดินโลก.” (เยเนซิศ 11:8, 9) ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าภาษาทั้งหมดที่ใช้กันในทุกวันนี้มีต้นตอมาจาก “ภาษาแม่” เพียงภาษาเดียว. แต่บันทึกในพระคัมภีร์บอกให้รู้ว่าภาษาใหม่หลายภาษาได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันพร้อมๆกันในลักษณะที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ โดยที่แต่ละภาษาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่หลากหลายของมนุษย์ได้และมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภาษาอื่นอย่างชัดเจน.

แล้วกลุ่มภาษาต่างๆที่ใช้กันในโลกทุกวันนี้ล่ะ? จริงๆแล้วภาษาในแต่ละกลุ่มมีลักษณะคล้ายกันหรือต่างกัน? ลีรา โบโรดิตสกี นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านความคิดของมนุษย์เขียนว่า “เมื่อนักภาษาศาสตร์ศึกษาอย่างละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับภาษาของโลก (ซึ่งมีประมาณ 7,000 ภาษา แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการวิจัย) พวกเขาได้พบความแตกต่างมากมายอย่างคาดไม่ถึง.” แม้ว่าภาษาที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เช่น ภาษากวางตุ้งและภาษาฮากกาที่พูดกันทางตอนใต้ของจีนอาจคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองภาษาแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับภาษาในตระกูลอื่น เช่น ภาษาคาตาลันตะวันตกหรือภาษาบาเลนเซียในสเปน.

ภาษามีอิทธิพลต่อความคิดและวิธีที่คนเราพรรณนาสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น สี ปริมาณ ทิศทาง หรือทำเลที่ตั้ง. ตัวอย่างเช่น คนที่พูดภาษาหนึ่งอาจบอกว่า “มีแมลงเกาะอยู่ที่มือขวา ของคุณ.” แต่คนที่พูดอีกภาษาหนึ่งอาจพูดว่า “มีแมลงเกาะอยู่ที่มือตะวันตกเฉียงใต้ ของคุณ.” ความแตกต่างเช่นนี้คงต้องทำให้เกิดความสับสนอย่างแน่นอน. ไม่แปลกเลยที่โครงการสร้างหอบาเบลต้องล้มเลิกไป.

 เสียงพูดที่ไม่เป็นคำหรือเสียงพูดที่ซับซ้อน?

ภาษาแรกของมนุษย์มีลักษณะอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่าอาดามมนุษย์คนแรกสามารถคิดคำใหม่เพื่อเรียกชื่อสัตว์บกและสัตว์ปีกทุกชนิด. (เยเนซิศ 2:20) ไม่เพียงเท่านั้น อาดามยังแต่งบทกวีพรรณนาความรู้สึกที่เขามีต่อภรรยา และภรรยาของอาดามก็บอกได้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้ามีคำสั่งอะไรบ้างและผลจะเป็นอย่างไรถ้าพวกเขาไม่เชื่อฟังพระองค์. (เยเนซิศ 2:23; 3:1-3) ดังนั้น ภาษาแรกที่มีในโลกทำให้มนุษย์สื่อสารกันได้อย่างครบถ้วนชัดเจนและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้อย่างเป็นอิสระในหลากหลายรูปแบบ.

ความสับสนอลเวงของภาษาที่เกิดขึ้นระหว่างการสร้างหอบาเบลทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้สติปัญญาและศักยภาพของร่างกายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาต้องการได้สำเร็จ. แต่ภาษาใหม่ที่เกิดขึ้นก็มีความซับซ้อนเช่นเดียวกับภาษาแรกของมนุษย์. เพียงไม่กี่ร้อยปีต่อมา มนุษย์สามารถสร้างเมืองใหญ่ที่คับคั่งด้วยผู้คน รวบรวมกองกำลังทางทหารที่เข้มแข็ง และติดต่อค้าขายกับชนชาติอื่นๆได้. (เยเนซิศ 13:12; 14:1-11; 37:25) พวกเขาจะพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าเช่นนี้ได้ไหมถ้าไม่มีคำศัพท์มากพอและโครงสร้างไวยากรณ์ที่สลับซับซ้อน? คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่า ภาษาแรกของมนุษย์รวมทั้งภาษาต่างๆซึ่งเริ่มขึ้นที่บาเบลไม่ใช่เสียงพูดที่ไม่เป็นคำหรือเสียงคำราม แต่เป็นภาษาที่มีความซับซ้อน.

ผลการศึกษาวิจัยในสมัยนี้สอดคล้องกับข้อสรุปดังกล่าว. สารานุกรมภาษาแห่งเคมบริดจ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ทุกวัฒนธรรมที่มีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ ‘ล้าหลัง’ หรือโบราณแค่ไหน ล้วนมีภาษาของตนเองที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว ทั้งยังมีความซับซ้อนเทียบเท่ากับภาษาของชาติที่ถือกันว่า ‘เจริญแล้ว.’” นอกจากนั้น หนังสือสัญชาตญาณทางภาษา (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์สตีเฟน พิงเคอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ยังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ไม่มีภาษาโบราณแบบที่เรียกกันว่าภาษายุคหิน.”

อนาคตของภาษา

หลังจากที่ได้พิจารณาเรื่องอายุและแหล่งที่มาของ “ฟอสซิล” ทางภาษาศาสตร์ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างกลุ่มภาษาต่างๆ รวมทั้งความซับซ้อนของภาษาในยุคโบราณ เราได้ข้อสรุปที่มีเหตุผลอะไร? หลายคนลงความเห็นว่าบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่หอบาเบลมีรายละเอียดที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน.

คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงทำให้ภาษาของมนุษย์สับสนจนพูดจากันไม่รู้เรื่องเพราะพวกเขาจงใจขัดขืนพระประสงค์ของพระองค์. (เยเนซิศ 11:4-7) อย่างไรก็ตาม พระเจ้าสัญญาว่าพระองค์จะ “ให้ชนชาติต่างๆเปลี่ยนมาใช้ภาษาบริสุทธิ์ เพื่อพวกเขาทุกคนจะได้ทูลพระยะโฮวาโดยออกพระนามพระองค์ และเพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) “ภาษาบริสุทธิ์” นี้คือความจริงในพระคำของพระเจ้าซึ่งจะชักนำผู้คนทั่วโลกให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าในอนาคต พระเจ้าจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพโดยให้พวกเขาพูดภาษาเดียวกันและแก้ไขความสับสนซึ่งเกิดขึ้นที่หอบาเบล.

^ วรรค 8 ทฤษฎีต่างๆเกี่ยวกับภาษามักจะอ้างอิงสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายลิง. มีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ในจุลสารต้นกำเนิดชีวิต—ห้าคำถามที่น่าคิด หน้า 27-29 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

^ วรรค 9 นักโบราณคดีขุดพบหอวิหารที่ก่อขึ้นเป็นชั้นๆคล้ายพีระมิดหลายแห่งในดินแดนชินาร์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าคนงานที่สร้างหอบาเบลใช้อิฐไม่ใช่หิน และใช้ยางมะตอยแทนปูน. (เยเนซิศ 11:3, 4) สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ กล่าวว่าในเมโสโปเตเมีย หินเป็นสิ่งที่ “หายากหรืออาจหาไม่ได้เลย” ในขณะที่ยางมะตอยมีอยู่มากมาย.