ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเผชิญกับความผิดปกติทางอารมณ์

การเผชิญกับความผิดปกติทางอารมณ์

การ​เผชิญ​กับ​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์

ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์​กำลัง​แพร่​หลาย​มาก​ขึ้น​อย่าง​น่า​กลัว. ยก​ตัว​อย่าง ประมาณ​กัน​ว่า​ทั่ว​โลก​มี​มาก​กว่า 330 ล้าน​คน​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ขั้น​รุนแรง ซึ่ง​มี​อาการ​ที่​เด่น​ชัด​คือ​อารมณ์​เศร้า​หมอง​อย่าง​หนัก​และ​รู้สึก​เบื่อ​กิจกรรม​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. ประมาณ​กัน​ว่า​ใน​อีก 20 ปี​ข้าง​หน้า โรค​ซึมเศร้า​จะ​กลาย​เป็น​โรค​ที่​แพร่​หลาย​ที่​สุด​โดย​เป็น​รอง​เพียง​โรค​หัวใจ​ร่วม​หลอด​เลือด​เท่า​นั้น. ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​โรค​นี้​ถูก​เรียก​ว่า “โรค​หวัด​ทาง​จิต.”

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ สาธารณชน​ให้​ความ​สนใจ​เรื่อง​โรค​ไบโพลาร์​กัน​มาก​ขึ้น. อาการ​ของ​โรค​นี้​รวม​ไป​ถึง​การ​มี​อารมณ์​แปรปรวน​อย่าง​รุนแรง ซึ่ง​สลับ​กัน​ระหว่าง​ความ​ซึมเศร้า​กับ​ความ​คลุ้มคลั่ง. หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​โดย​สมาคม​การ​แพทย์​อเมริกัน​กล่าว​ว่า “ใน​ระยะ​ซึมเศร้า ผู้​ป่วย​อาจ​คิด​อยาก​ฆ่า​ตัว​ตาย​อยู่​เรื่อย ๆ. ใน​ระยะ​คลุ้มคลั่ง การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​ดี​ของ​ผู้​ป่วย​จะ​เสีย​ไป​และ​เขา​อาจ​มอง​ไม่​เห็น​ความ​เสียหาย​จาก​การ​กระทำ​ของ​ตน.”

สอง​เปอร์เซ็นต์​ของ​ประชากร​ใน​สหรัฐ​อาจ​เป็น​โรค​ไบโพลาร์ ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า มี​ผู้​ป่วย​ใน​ประเทศ​นี้​ประเทศ​เดียว​นับ​ล้าน​คน. แต่​ตัว​เลข​อย่าง​เดียว​ไม่​อาจ​พรรณนา​ถึง​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ของ​การ​เผชิญ​กับ​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์​ได้.

โรค​ซึมเศร้า—เศร้า​หมอง​อย่าง​รุนแรง

พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​รู้​ว่า​การ​รู้สึก​เศร้า​สัก​ระยะ​หนึ่ง​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร. เมื่อ​ถึง​เวลา ความ​เศร้า​ก็​จะ​จาง​หาย​ไป อาจ​เป็น​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ชั่วโมง​หรือ​ไม่​กี่​วัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โรค​ซึม​เศร้า​ร้ายแรง​กว่า​นั้น​มาก. ร้ายแรง​กว่า​อย่าง​ไร? ดร. มิตช์ โกแลนต์ อธิบาย​ว่า “พวก​เรา​ที่​ไม่​ได้​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​รู้​ว่า​ใน​ที่​สุด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​อารมณ์​ของ​เรา​ก็​จะ​ผ่าน​ไป แต่​คน​ที่​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ต้อง​ประสบ​กับ​ภาวะ​อารมณ์​แปรปรวน​แบบ​เดี๋ยว​ดี​เดี๋ยว​ร้าย และ​เปลี่ยน​แปลง​ตลอด​เวลา​เหมือน​กับ​อยู่​บน​รถไฟ​เหาะ​ที่​ไร้​การ​ควบคุม​โดย​ไม่​รู้​ว่า​จะ​ออก​มา​ได้​อย่าง​ไร​และ​เมื่อ​ไร—หรือ​แม้​แต่​จะ​มี​วัน​ได้​ออก​มา​ไหม.”

โรค​ซึมเศร้า​มี​หลาย​ชนิด. ตัว​อย่าง​เช่น บาง​คน​เป็น​โรค​ที่​เรียก​ว่า​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์​ตาม​ฤดู​กาล (เอสเอดี) ซึ่ง​ปรากฏ​อาการ​เฉพาะ​ช่วง​ใด​ช่วง​หนึ่ง​ของ​ปี โดย​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ฤดู​หนาว. หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​การ​แพทย์​ของ​ประชาชน​กล่าว​ว่า “คน​ที่​เป็น​โรค​เอสเอดี​รายงาน​ว่า ยิ่ง​พวก​เขา​อยู่​ไกล​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​และ​สภาพ​อากาศ​ดู​มืด​ครึ้ม​มาก​เท่า​ไร อาการ​ซึมเศร้า​ของ​เขา​ก็​จะ​ยิ่ง​รุนแรง​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. แม้​เชื่อ​กัน​ว่า​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​โรค​เอสเอดี​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ที่​มืด​ครึ้ม แต่​ใน​บาง​กรณี โรค​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สถาน​ที่​ทำ​งาน​ภาย​ใน​อาคาร​ที่​มืด หรือ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ช่วง​ที่​มี​เมฆ​มาก​ผิด​ฤดู​กาล​และ​สภาพ​สายตา​ไม่​ดี.”

อะไร​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​ซึมเศร้า? คำ​ตอบ​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​แน่ชัด. แม้​ว่า​ใน​บาง​กรณี​อาจ​มี​สาเหตุ​มา​จาก​กรรมพันธุ์ แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ดู​เหมือน​ว่า​ปัจจัย​สำคัญ​คือ​ประสบการณ์​ใน​ชีวิต. มี​การ​สังเกต​ด้วย​ว่า​ผู้​หญิง​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​นี้​มาก​กว่า​ผู้​ชาย​ถึง​สอง​เท่า. * แต่​นั่น​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ผู้​ชาย​ไม่​ได้​รับ​ผล​กระทบ. ตรง​กัน​ข้าม มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า​ผู้​ชาย 5 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์​จะ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ใน​ช่วง​ใด​ช่วง​หนึ่ง​ของ​ชีวิต.

เมื่อ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ชนิด​นี้ ผู้​ป่วย​จะ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​เกือบ​ทุก​แง่​มุม​ของ​ชีวิต. ชีลา ซึ่ง​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​ป่วย​ด้วย​โรค​นี้ กล่าว​ว่า โรค​นี้ “ทำ​ให้​คุณ​สับสน​กระวนกระวาย และ​บ่อน​ทำลาย​ความ​มั่น​ใจ, ความ​นับถือ​ตัว​เอง, ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​อย่าง​แจ่ม​ชัด​และ​การ​ตัดสิน​ใจ แล้ว​เมื่อ​มัน​รุนแรง​ถึง​ระดับ​หนึ่ง มัน​จะ​บีบคั้น​คุณ​อย่าง​หนัก​เพื่อ​ทดสอบ​ว่า​คุณ​จะ​ทน​ไหว​หรือ​ไม่.”

มี​บาง​ครั้ง​ที่​ผู้​ป่วย​อาจ​รู้สึก​ดี​ขึ้น​มาก​เมื่อ​เขา​ระบาย​ความ​รู้สึก​ต่อ​คน​อื่น​ที่​เข้าใจ. (โยบ 10:​1) ถึง​กระนั้น ต้อง​ยอม​รับ​ว่า ถ้า​โรค​ซึมเศร้า​นั้น​เกิด​จาก​ความ​ไม่​สมดุล​ทาง​ชีวเคมี ก็​ไม่​สามารถ​จะ​ขจัด​มัน​ออก​ไป​ได้​โดย​เพียง​แค่​การ​มอง​ใน​แง่​ดี. จริง ๆ แล้ว ใน​กรณี​เช่น​นี้ อารมณ์​เศร้า​หมอง​ของ​โรค​นี้​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ความ​ควบคุม​ของ​ผู้​ป่วย. ยิ่ง​กว่า​นั้น ผู้​ป่วย​อาจ​งงงวย​กับ​อาการ​ของ​โรค​นี้​พอ ๆ กับ​คน​ใน​ครอบครัว​และ​เพื่อน.

ขอ​ให้​คิด​ถึง​พอ​ลา * คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่​ต้อง​ทน​กับ​ความ​เศร้า​หมอง​อย่าง​รุนแรง​เป็น​ระยะ ๆ ซึ่ง​ทำ​ให้​เธอ​หมด​กำลัง ก่อน​ที่​เธอ​จะ​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​ซึมเศร้า. เธอ​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​เมื่อ​การ​ประชุม​คริสเตียน​จบ​ลง ดิฉัน​จะ​รีบ​วิ่ง​ออก​ไป​ที่​รถยนต์​และ​ร้องไห้ ทั้ง ๆ ที่​ไม่​มี​เหตุ​ผล​อะไร​เลย. ดิฉัน​มี​ความ​รู้สึก​เปล่าเปลี่ยว​และ​เจ็บ​ปวด​ใจ​จน​ทน​ไม่​ไหว. แม้​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​จะ​บ่ง​ชี้​ว่า​ดิฉัน​มี​เพื่อน​หลาย​คน​ที่​ห่วงใย​ดิฉัน แต่​ดิฉัน​ก็​ไม่​สามารถ​รับ​รู้​สิ่ง​นั้น​ได้.”

สิ่ง​ที่​คล้าย​กัน​เกิด​ขึ้น​กับ​เอลเลน ซึ่ง​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ถึง​ขั้น​ที่​ต้อง​เข้า​รับ​การ​รักษา​ใน​โรง​พยาบาล. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​มี​ลูก​ชาย​สอง​คน, ลูก​สะใภ้​ที่​น่า​รัก​สอง​คน, และ​สามี และ​ดิฉัน​รู้​ว่า​ทุก​คน​รัก​ดิฉัน​มาก.” ตาม​เหตุ​ผล​แล้ว เอลเลน​น่า​จะ​มี​ความ​สุข​กับ​ชีวิต​และ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เธอ​มี​ค่า​สำหรับ​ครอบครัว. แต่​เมื่อ​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​โรค​ซึมเศร้า ความ​คิด​ที่​หดหู่​ก็​อาจ​โถม​ทับ​ผู้​ป่วย ไม่​ว่า​ความ​คิด​นั้น​จะ​ไร้​เหตุ​ผล​สัก​เพียง​ไร​ก็​ตาม.

ที่​ไม่​ควร​มอง​ข้าม​คือ​ผล​กระทบ​อัน​หนัก​หน่วง​ซึ่ง​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​ผู้​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​อาจ​ได้​รับ. ดร. โกแลนต์ เขียน​ว่า “เมื่อ​คน​ที่​คุณ​รัก​เป็น​โรค​ซึมเศร้า คุณ​อาจ​ต้อง​อยู่​กับ​ความ​รู้สึก​ไม่​แน่นอน โดย​ไม่​รู้​จริง ๆ ว่า คน​ที่​คุณ​รัก​จะ​ฟื้น​จาก​ระยะ​ซึมเศร้า​เมื่อ​ไร หรือ​จะ​เกิด​อาการ​ซึมเศร้า​อีก​เมื่อ​ไร. คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ได้​สูญ​เสีย​บาง​สิ่ง​ที่​สำคัญ​มาก หรือ​รู้สึก​เศร้า​โศก​และ​โมโห​ด้วย​ซ้ำ ที่​ชีวิต​ได้​เปลี่ยน​ไป​จาก​สภาพ​ปกติ และ​อาจ​เป็น​เช่น​นั้น​ตลอด​ไป.”

บ่อย​ครั้ง ลูก ๆ รับ​รู้​ความ​ซึมเศร้า​ของ​พ่อ​แม่​ได้. ดร. โกแลนต์ เขียน​ว่า “ลูก​ที่​มี​แม่​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​จะ​ไว​ต่อ​อารมณ์​ของ​แม่​มาก เขา​จะ​คอย​เฝ้า​สังเกต​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทุก​อย่าง​แม้​เพียง​เล็ก​น้อย.” แพทย์​หญิง​แครอล วัต​กินส์ กล่าว​ว่า ลูก​ที่​มี​พ่อ​แม่​เป็น​โรค​ซึมเศร้า “มี​แนว​โน้ม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​เกิด​ปัญหา​ทาง​ด้าน​พฤติกรรม, ปัญหา​การ​เรียน, และ​ปัญหา​กับ​เพื่อน. พวก​เขา​เอง​มี​โอกาส​ที่​จะ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​มาก​ขึ้น.”

โรค​ไบโพลาร์—เปลี่ยน​แปลง​อยู่​เสมอ

จริง​ที​เดียว โรค​ซึมเศร้า​เป็น​ปัญหา​หนัก. แต่​ถ้า​มี​อาการ​คลุ้มคลั่ง​เพิ่ม​เข้า​มา​ด้วย​ก็​จะ​เรียก​อาการ​นั้น​ว่า​โรค​ไบโพลาร์. * ลูเซีย ผู้​ป่วย​โรค​นี้ กล่าว​ว่า “สิ่ง​เดียว​ที่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​เกี่ยว​กับ​โรค​ไบโพลาร์​คือ​ความ​ไม่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย.” จดหมาย​ข่าว​สุขภาพ​จิต​ของ​ฮาร์เวิร์ด (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ใน​ระยะ​คลุ้มคลั่ง ผู้​ป่วย​โรค​ไบโพลาร์ “อาจ​กลาย​เป็น​คน​ชอบ​ยุ่ง​เรื่อง​ของ​คน​อื่น​และ​เป็น​คน​เจ้า​กี้​เจ้า​การ​จน​เหลือ​ทน และ​จาก​ที่​มี​อารมณ์​ร่าเริง​อยู่​ไม่​สุข จู่ ๆ ก็​อาจ​กลาย​เป็น​ความ​หงุดหงิด​ฉุนเฉียว​หรือ​ความ​เกรี้ยวกราด.”

เลนอร์​ยัง​จำ​ประสบการณ์​ของ​เธอ​ได้​เมื่อ​เกิด​อารมณ์​รื่นเริง​ใน​ระยะ​คลุ้มคลั่ง. เธอ​เล่า​ว่า “ดิฉัน​มี​พลังงาน​เหลือ​เฟือ​พลุ่ง​พล่าน​อยู่​ใน​ตัว​ดิฉัน. หลาย​คน​เรียก​ดิฉัน​ว่า​ยอด​มนุษย์​หญิง. บาง​คน​ชอบ​บอก​ว่า ‘ฉัน​อยาก​เป็น​เหมือน​เธอ​จัง.’ ดิฉัน​มัก​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​มี​อำนาจ​มาก ราว​กับ​ว่า​จะ​ทำ​อะไร​ก็​ได้. ดิฉัน​ออก​กำลัง​กาย​อย่าง​หักโหม. ดิฉัน​ทำ​กิจวัตร​ต่าง ๆ ได้​แม้​จะ​นอน​หลับ​น้อย​มาก แค่​คืน​ละ​สอง​หรือ​สาม​ชั่วโมง. แต่​ดิฉัน​จะ​ตื่น​ขึ้น​มา​พร้อม​กับ​มี​พลัง​มาก​เท่า​เดิม.”

แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป เมฆ​หมอก​แห่ง​ความ​เศร้า​หมอง​เริ่ม​ปก​คลุม​เลนอร์. เธอ​กล่าว​ว่า “ขณะ​ที่​ดิฉัน​อยู่ ณ จุด​สุด​ยอด​ของ​ความ​รื่นเริง ดิฉัน​จะ​รู้สึก​หงุดหงิด​อยู่​ลึก ๆ ข้าง​ใน​ที่​ไหน​สัก​แห่ง มัน​เป็น​เหมือน​เครื่อง​ยนต์​ที่​กำลัง​ทำ​งาน​และ​ปิด​ไม่​ได้. ใน​ชั่ว​พริบ​ตา​เดียว อารมณ์​ที่​รื่นเริง​ของ​ดิฉัน​จะ​กลาย​เป็น​ความ​ก้าวร้าว​และ​การ​อาละวาด. ดิฉัน​จะ​ดุ​ด่า​ว่า​คน​ใน​ครอบครัว​ทั้ง ๆ ที่​ไม่​มี​เหตุ​ผล​อะไร​เลย. ดิฉัน​ฉุน​เฉียว, โกรธ​แค้น, และ​ควบคุม​ตัว​เอง​ไม่​ได้. หลัง​จาก​อาการ​ที่​น่า​กลัว​นี้​ผ่าน​ไป​แล้ว ดิฉัน​ก็​จะ​หมด​เรี่ยว​แรง​ใน​ทันที​ทันใด แล้ว​จะ​ร้องไห้​และ​ซึมเศร้า​อย่าง​หนัก. ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ค่า​และ​ชั่ว​ช้า. หรือ​ถ้า​ไม่​เป็น​เช่น​นี้ ดิฉัน​ก็​อาจ​กลับ​มา​เป็น​คน​ที่​ร่าเริง​อย่าง​ไม่​น่า​เชื่อ​อีก​ครั้ง เหมือน​กับ​ว่า​ไม่​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​เลย.”

พฤติกรรม​ที่​ไม่​อยู่​กับ​ร่อง​กับ​รอย​ของ​ผู้​ป่วย​โรค​ไบโพลาร์​เป็น​เหตุ​ให้​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​เกิด​ความ​สับสน. แมรี ซึ่ง​มี​สามี​เป็น​โรค​ไบโพลาร์ กล่าว​ว่า “เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​สับสน​ที่​เห็น​สามี​ดิฉัน​เบิกบาน​ช่าง​พูด​ช่าง​คุย แต่​แล้ว​ก็​เปลี่ยน​ไป​เป็น​คน​หดหู่​ชอบ​เก็บ​ตัว. เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​เรา​จะ​ยอม​รับ​ความ​จริง​ที่​ว่า เขา​แทบ​ไม่​สามารถ​ควบคุม​ตัว​เอง​ได้​เลย.”

น่า​แปลก บ่อย​ครั้ง​โรค​ไบโพลาร์​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​ข้องขัดใจ​พอ ๆ กัน หรือ​อาจ​มาก​กว่า​ด้วย​ซ้ำ. ผู้​ป่วย​โรค​ไบโพลาร์​ชื่อ​กลอเรีย​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​อิจฉา​คน​ที่​มี​ความ​สมดุล​และ​ความ​มั่นคง​ใน​ชีวิต. ความ​มั่นคง​ทาง​อารมณ์​เป็น​เหมือน​สถาน​ที่​ที่​คน​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​ได้​แต่​ไป​เยือน. ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​อยู่​ที่​นั่น​จริง ๆ.”

อะไร​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​ไบโพลาร์. ปัจจัย​หนึ่ง​คือ​กรรมพันธุ์ ซึ่ง​เป็น​ปัจจัย​ที่​มี​ผล​ต่อ​การ​เป็น​โรค​นี้​มาก​กว่า​มี​ผล​ต่อ​การ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​เสีย​อีก. สมาคม​การ​แพทย์​อเมริกัน​กล่าว​ว่า “จาก​การ​ศึกษา​วิจัย​ทาง​วิทยาศาสตร์​บาง​ชิ้น สมาชิก​ครอบครัว​ที่​ใกล้​ชิด—เช่น พ่อ​แม่, พี่​น้อง, หรือ​ลูก ๆ—ของ​คน​ที่​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​มี​ความ​เสี่ยง​ที่​จะ​เป็น​โรค​นี้​มาก​กว่า​สมาชิก​ครอบครัว​ของ​คน​ที่​ไม่​ได้​เป็น​โรค​นี้ 8 ถึง 18 เท่า. นอก​จาก​นั้น การ​มี​สมาชิก​ครอบครัว​ซึ่ง​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ขั้น​รุนแรง​มาก​กว่า​ด้วย.”

ไม่​เหมือน​กับ​โรค​ซึมเศร้า ดู​เหมือน​ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​จำนวน​เท่า ๆ กัน. ส่วน​ใหญ่​แล้ว ผู้​ป่วย​จะ​เริ่ม​เป็น​โรค​นี้​ตั้ง​แต่​วัย​หนุ่ม​สาว แต่​เคย​มี​การ​ตรวจ​พบ​โรค​ไบโพลาร์​ใน​วัย​แรก​รุ่น​และ​แม้​แต่​ใน​เด็ก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​วิเคราะห์​อาการ​และ​การ​ได้​ข้อ​สรุป​ที่​ถูก​ต้อง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก​แม้​แต่​สำหรับ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ทาง​การ​แพทย์. นาย​แพทย์​ฟรานซิส มาร์ก มอนดิโมร์ แห่ง​มหาวิทยาลัย​แพทย์​จอนส์ฮอปกินส์ เขียน​ว่า “โรค​ไบโพลาร์​เป็น​เหมือน​กิ้งก่า​เปลี่ยน​สี​ใน​บรรดา​โรค​ทาง​จิตเวช คือ​โรค​นี้​จะ​มี​อาการ​แตกต่าง​กัน​ใน​คนไข้​แต่​ละ​คน และ​แตกต่าง​กัน​ใน​แต่​ละ​ช่วง​เวลา​แม้​แต่​ใน​คนไข้​คน​เดียว​กัน. มัน​เป็น​ความ​น่า​กลัว​ที่​ซ่อน​เร้น​ซึ่ง​แอบ​เข้า​มา​หา​เหยื่อ​ใน​ความ​มืดมน​แห่ง​ความ​หดหู่​ใจ​แล้ว​ก็​หาย​ไป​คราว​ละ​หลาย​ปี และ​ย้อน​กลับ​มา​อีก​ด้วย​ความ​โชติช่วง​และ​ความ​เร่าร้อน​แห่ง​ความ​คลุ้มคลั่ง.”

เห็น​ได้​ชัด ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​อารมณ์​เป็น​สิ่ง​ที่​วินิจฉัย​ได้​ยาก และ​การ​เผชิญ​กับ​โรค​เหล่า​นี้​อาจ​ยาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก. แต่​ยัง​มี​ความ​หวัง​สำหรับ​ผู้​ป่วย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​เป็น​เช่น​นี้​คือ​ผู้​หญิง​มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​หลัง​คลอด รวม​ทั้ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ของ​ฮอร์โมน​ใน​ช่วง​หมด​ประจำ​เดือน. นอก​จาก​นั้น ผู้​หญิง​มี​แนว​โน้ม​จะ​แสวง​หา​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​แพทย์​มาก​กว่า​ผู้​ชาย​และ​จึง​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​นี้.

^ วรรค 11 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​ชุด​นี้​เป็น​นาม​สมมุติ.

^ วรรค 16 แพทย์​รายงาน​ว่า บ่อย​ครั้ง​ระยะ​ของ​อารมณ์​แต่​ละ​ช่วง​จะ​คง​อยู่​นาน​หลาย​เดือน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แพทย์​ยัง​สังเกต​ว่า “พวก​ครบ​รอบ​เร็ว” จะ​เป็น​ระยะ​ซึมเศร้า​กับ​ระยะ​คลุ้มคลั่ง​สลับ​กัน​หลาย​รอบ​ใน​หนึ่ง​ปี. ใน​กรณี​ที่​เกิด​ขึ้น​น้อย​มาก ผู้​ป่วย​อาจ​เปลี่ยน​จาก​ขั้ว​หนึ่ง​ไป​อีก​ขั้ว​หนึ่ง​ภาย​ใน 24 ชั่วโมง.

[คำ​โปรย​หน้า 6]

“ความ​มั่นคง​ทาง​อารมณ์​เป็น​เหมือน​สถาน​ที่​ที่​คน​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​ได้​แต่​ไป​เยือน. ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​อยู่​ที่​นั่น​จริง ๆ.”—กลอเรีย

[กรอบ/ภาพ​หน้า 5]

อาการ​ของ​โรค​ซึมเศร้า​ขั้น​รุนแรง *

● มี​อารมณ์​เศร้า​เกือบ​ตลอด​ทั้ง​วัน และ​เป็น​เกือบ​ทุก​วัน​ติด​ต่อ​กัน​เป็น​เวลา​อย่าง​น้อย​สอง​สัปดาห์

● หมด​ความ​สนใจ​ใน​กิจกรรม​ที่​เคย​ชอบ

● น้ำหนัก​ตัว​เพิ่ม​หรือ​ลด​อย่าง​ผิด​สังเกต

● นอน​หลับ​มาก​เกิน​ไป​หรือ​ตรง​กัน​ข้าม คือ​เป็น​โรค​นอน​ไม่​หลับ​เรื้อรัง

● การ​เคลื่อน​ไหว​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ ว่องไว​หรือ​เชื่อง​ช้า​ผิด​ปกติ

● เครียด​จัด โดย​ไม่​มี​สาเหตุ​ที่​เห็น​เด่น​ชัด

● รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ค่า และ/หรือ รู้สึก​ผิด​อย่าง​ไม่​สม​ควร

● สมาธิ​ลด​น้อย​ลง

● คิด​อยาก​ฆ่า​ตัว​ตาย​เรื่อย ๆ

อาการ​เหล่า​นี้​บาง​อย่าง​อาจ​บ่ง​ชี้​ถึง​โรค​ประสาท​ซึมเศร้า (dysthymia) ซึ่ง​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ที่​มี​ความ​รุนแรง​น้อย​กว่า​แต่​เรื้อรัง​ยาว​นาน​กว่า.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 31 นี่​เป็น​รายการ​ย่อ ๆ ไม่​ใช่​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​การ​วินิจฉัย​โรค​ด้วย​ตัว​เอง. นอก​จาก​นั้น อาการ​บาง​อย่าง​อาจ​แสดง​ถึง​ปัญหา​อย่าง​อื่น​นอก​จาก​โรค​ซึมเศร้า.